วันพฤหัสบดีที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2555

หลวงปู่คำพันธ์เจริญธาตุนั่งปรกอธิษฐานจิต

หลวงปู่ใช้วิชาการเจริญธาตุในการนั่งปรกอธิษฐานจิตและจารอักขระด้วยตัวธรรมลาว



             เนื่องจากหนังสือผูกใบลานนี้เป็นหนังสือที่หลวงปู่พรหมา แห่งนครจำปาศักดิ์ เป็นพระอภิญญาจากประเทศลาว ดังนั้น ภาษาที่ใช้จารึกลงใบลาน จึงเป็น ตัวธรรมลาวอย่างแน่นอน คงไม่ใช่ภาษาอื่น ๆ มาปะปนอย่างเด็ดขาด และเรื่องนี้ได้ตรวจสอบตัวอักขระแล้วว่าเป็นภาษาลาวจริง และมีเหตุผลอื่นประกอบดังนี้

               ๑. เฉพาะองค์หลวงปู่คำพันธ์ โฆสปัญโญ ท่านเป็นหลานของผ้าขาวครุฑ ตั้งแต่เป็นเณรก็ได้ไปเรียนกรรมฐานที่บ้านท่าลี่ อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย และผู้เขียนได้เรียนถามหลวงปู่ว่าผ้าขาวครุฑนี้ เป็นผู้ที่มีลูกศิษย์เป็นทั้งพระและฆราวาส มาเรียนกรรมฐานวิชาอยู่ด้วยทั้งจากฝั่งลาวและไทย หลวงปู่จึงมีความสามารถในการอ่านอักขระตัวอักษรลาว ตัวธรรมลาว สามารถเข้าใจความหมายอันศักสิทธิ์ของอักขระแต่ละตัว       
              หลวงปู่จึงสามารถถอดยันต์แต่ละชนิดออกมาได้อย่างพลิกแพลงพิสดาร ข้อนี้ได้รับคำยืนยันจากคุณชวลิต ลิขิตวัน ลูกศิษย์ก้นกุฏิรุ่นแรกที่เห็นหลวงปู่กำลังทำพิธีจารแผ่นทองคำในกล่องกำมะหยี่สีน้ำเงินจำนวน 3 กล่อง หนักกล่องละ ๕ บาท กล่องนั้นประทับตราครุฑ แผ่นทองคำนั้นจะหลอมเพื่อสร้างรูปหล่อลอยองค์สมเด็จพระศรีสุริโยทัย
              ระหว่างที่ทำพิธีจารแผ่นทองคำนี้ มีหลวงปู่ เณรรับใช้ ๑ รูป และคุณชวลิต เท่านั้น หลวงปู่ท่านจะเปิดใบลานเลือกอักขระออกมาทีละตัว พลิกใบลานเลือกจากยันต์ชนิดต่าง ๆ อย่างสงบเงียบ มีมหาสติตั้งมั่นอย่างมากพร้อมกับจารอักขระไปทีละตัว และเคยบอกคุณชวลิตว่า การจารตะกรุด ม้วนตะกรุด จะมีคาถาอธิษฐานจิตแผ่พลังลมปราณลงในตะกรุดกำกับทุกดอก ขณะม้วนก็จะมีคาถากำกับทำให้แผ่นโลหะร้อนและอ่อนม้วนได้ จึงรู้สึกเหนื่อยมากกว่าการนั่งปรกเสียอีก จึงไม่แปลกใจเลยที่ทำไมตะกรุดของหลวงปู่จึงมีฤทธานุภาพมาก ใครก็ถามหาอยากได้ไว้บูชาครอบครอง

             ๒. สำหรับการนั่งปรกอธิษฐานจิต ผู้เขียนไม่เคยได้ยินว่าหลวงปู่ใช้พระคาถาบทอื่นใดมีแต่ท่านอธิบายให้ฟังเรื่อง การเจริญธาตุน้ำ ดิน ไฟ ลม (อาโปธาตุ ปฐวีธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุ) และผู้เขียนได้ขอเรียนเรื่องการเจริญธาตุกับท่านไว้ ซึ่งท่านเมตตาสอนให้และอธิบายความศักดิ์สิทธิ์ไว้อย่างมากมาย ประกอบกับผู้เขียนได้เห็นตำราการเจริญธาตุของคูบาอาจารย์หลายท่าน ดังนี้

                   ๒.๑ ตำราการเจริญธาตุของฤาษีคำก้อน บ้านหนองบ่อ อำเภอนาแก จังหวัดนครพนม ซึ่งเรียนวิชากับหลวงปู่สอนตาทิพย์ ภูค้อ บ้านมะนาว อำเภอดงหลวง จังหวัดมุกดาหาร (หลวงปู่คำพันธ์เคยพบหลวงปู่สอนที่บ้านหนองหอยใหญ่ หลวงปู่สอนท่านมรณะภาพ พ.ศ.๒๔๙๓ มีเจดีย์บรรจุอัฎฐิที่ถ้ำภูค้อด้วย)

                  ๒.๒ ตำราการเจริญธาตุของปู่ฤาษีโสฬส ก่อนเข้าอำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น (ไปจากกาฬสินธ์) ปู่ฤาษีท่านผู้นี้เคยหนีไปอยู่เวียงจันทร์สมัยบ้านเมืองมีปัญหา ผกค.ท่านได้เคยมาอยู่เขตอำเภอนาแก ก่อนจะเดินทางไปอยู่ประเทศลาว โดยท่านได้บวชเป็นฤาษีและได้พบตำราการเจริญธาตุมาจากหอไตรหรือหอพระเวทย์เป็นภาษาลาว ช่วงก่อนปี พ.ศ.๒๕๑๘ ท่านได้ให้คนลาวอ่านภาษาลาว ตัวธรรมลาว แล้วท่านเขียนมาเป็นภาษาไทย ผู้เขียนได้ถ่ายเอกสารเก็บไว้ ๑ ชุด ตำรานั้นเหมือนกับที่หลวงปู่คำพันธ์ท่านได้สอนให้ผู้เขียนและเหมือนกับฤาษีคำก้อนทุกประการ

                ๒.๓ ตำราการเจริญธาตุของหลวงปู่สุภา จังหวัดภูเก็ต ท่านเป็นลูกศิษย์ของหลวงปู่สีทัต ผู้สร้างพระธาตุท่าอุเทน หลวงปู่สีทัตเป็นลูกศิษย์ของสำเร็จลุน ดังนั้นตำราการเจริญธาตุจึงเป็นเหมือนกันทุกประการเพราะเป็นลูกศิษย์เดียวกัน มีเรื่องเล่าว่าหลวงปู่สีทัตกับผ้าขาวครุฑเป็นเพื่อนกัน จึงค่อนข้างจะมั่นใจได้ว่าหลวงปู่คำพันธ์ ท่านต้องเคยเข้าไปกราบพบสำเร็จลุนอย่างแน่นอน วิชาที่ท่านเรียนจึงเป็นการเจริญธาตุ กระผมได้พบและถ่ายเอกสารตำราของหลวงปู่สุภาไว้เทียบเคียงกันแล้วเป็นการเจริญธาตุไม่ใช่วิชาอื่น

              ๒.๔ ผู้เขียนได้ศึกษาวิธีการเจริญธาตุ การนั่งปรก การอธิษฐานจิตให้วัตถุมงคลเกิดความศักดิ์สิทธิ์จากหลวงปู่ ที่วัดป่าอรัญคาม ในกุฎิมังคละคีรี เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๔๓ ได้บันทึกเสียงหลวงปู่ไว้เป็นหลักฐาน เมื่อเปิดทบทวนเสียงหลวงปู่ก็พูดเรื่องการเจริญธาตุ หนุนธาตุ หมุนธาตุ กลับธาตุเช่นกัน บอกวิธีการใช้ การเพ่งให้เกิดพลังในวัตถุมงคล ท่านไม่ได้พูดเรื่องอื่นใช้วิชาอย่างอื่นหรือคาถาบทอื่นใดเลย

               จึงสรุปกล่าวได้ว่า
หลวงปู่คำพัน์ โฆสปัญโญ
ท่านสำเร็จวิชาการเจริญธาตุอย่างแน่นอน

 ส่วนเรื่องปาฎิหาริย์ของผู้ที่สำเร็จการเจริญธาตุนั้นมีอย่างมากมายมหาศาล
ท่านได้เมตตาเล่าให้ฟังหลายครั้ง แต่ผู้เขียนไม่ขอนำมาลงไว้ในที่นี้
เพราะหลวงปู่ท่านบอกว่าเป็นเรื่องที่ท่านรู้เฉพาะตัวท่าน
ไม่อยากให้เปิดเผยจะเป็นการอวดอ้างไป
แต่ผู้เขียนขอบอกว่า
 มีมากกว่าที่เป็นเรื่องเล่าลือกันในหมู่ลูกศิษย์มากมายนัก


ยันต์มหาปรารถนาลายมือหลวงปู่เขียนให้คุณชวลิต ลิขิตวัน

ร้านสยามมอเตอร์ไซด์ นครพนม

             คุณชวลิตเปิดเผยให้ผู้เขียนทราบว่า ได้ปรนนิบัติรับใช้หลวงปู่ตั้งแต่ท่านยังไม่ค่อยมีใครรู้จัก เพราะท่านปลัดพิศาล มูลศาสสาทร (สมัยนั้นเป็นปลัดจังหวัดนครพนม) ได้พากันไปกราบหลวงปู่ ยันต์มหาปรารถนานั้นหลวงปู่เขียนให้คุณชวลิตที่วัดป่าจำนวน ๙ แผ่น จารลงในแผ่นเงิน เมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๕๓๒ - ๒๕๓๓ ส่วนยันต์มหานิยมจารให้ที่วัดมหาชัยในกุฏิไม้หลังเก่า เมื่อ พ.ศ.๒๕๑๖







รูปที่ ๕ ยันต์มหาปรารถนา (ซ้ายมือ) หลวงปู่เขียนให้คุณชวลิต ลิขิตวัน
เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๒-๒๕๓๓ ยันต์มหานิยมจารให้ปี พ.ศ.๒๕๑๖








ความหมายของอักขระยันต์

ความหมายของอักขระ


                ผู้เขียนได้เรียนถามหลวงปู่ว่า ยันต์นี้อ่านว่าอย่างไร ท่านได้พูดเป็นภาษาบาลี แต่ผู้เขียนจำไม่ได้   ผู้เขียนขอความกรุณาให้ท่านแปลความหมายที่มาของอักขระ ท่านได้แปลอยู่ตัวหนึ่งคือ นะ แผลงสระ จาก อะ เป็น อิ จาก นะ เป็น นิ หมายถึง พระนิพพาน อันเป็นความปรารถนาสูงสุดของผู้บำเพ็ญธรรม พระนิพพานนั้น เป็นความว่างจากกิเลสทั้งปวง ซึ่งจะบรรจุความปรารถนาที่ดีงามอื่น ๆ ไว้ด้วยและมักจะสมความปรารถนาที่ต้องการเสมอ

ยันต์ต้นฉบับใบลาน

          เมื่อวันเสาร์ ที่ ๑๙ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๐ ผู้เขียนและท่าน ผอ.พิเชฎฐ์ หลั่งทรัพย์ ได้ไปกราบเมตตาขอดูยันต์ต้นฉบับใบลานนั้นกับท่านพระครูสุนทรชยาภิวัฒน์ ( สมัย รกฺขิตธมฺโม) และกราบเรียนถามที่มาของยันต์ ท่านได้กรุณาเปิดจากตู้มาให้ดูมีลักษณะเป็นใบลานสีเหลืองซีดผูกด้วยด้ายสีขาว หน้าปกใบลานแผ่นแรก เขียนด้วยลายมือหลวงปู่คำพันธ์ ว่า

                       “หนังสือเล่มนี้เป็นของส่วนตัวยาคูคำพันธ์ น.ธ.เอก

   เมื่อวันที่ ๑๕ กันยายน พ.ศ.๒๔๙๐ ณ บ้านม่วง ต.ปลาปาก นครพนม”

            ท่านพระครูสุนทรชยาภิวัฒน์ ได้เล่าว่ายันต์ในใบลานนั้นมาจากหลวงปู่พรหมา แห่งนครจำปาศักดิ์ ประเทศลาวมีอยู่ ๒ ผูก ผูกที่หนึ่งหลวงพ่อหวัง บ้านทันสมัยได้ไปศึกษาและได้เผาในกองฟอนพร้อมกับศพหลวงพ่อหวังแล้ว (ท่านพระครูสุนทรชยาภิวัฒน์ ตอนนั้นเป็นเณรอยากได้ใบลานผูกของหลวงพ่อหวังจะอธิษฐานขอไว้ แต่ตอนเผาศพหลวงพ่อหวังไฟร้อนแดงเป็นถ่านแต่ศพไม่ไหม้เลย จึงคิดว่าหลวงพ่อหวังคงหวงตำรา จึงโยนใบลานผูกนั้นเข้ากองไฟ และศพหลวงพ่อหวังก็ไหม้ทันที ใช้เวลาประมาณ ๑๐ นาทีเท่านั้น ซึ่งเป็นที่น่าเสียดายตำรายันต์นั้นอย่างมาก)

           เฉพาะส่วนของหลวงปู่คำพันธ์ ท่านพระครูสุนทรชยาภิวัฒน์ ได้รับการสั่งเสียมอบหมายงานให้รักษาการเจ้าอาวาสวัดมหาชัย พร้อมกับกำกับให้ดูแลทรัพย์สินสิ่งของต่าง ๆ ก่อนหลวงปู่จะละสังขารประมาณ 3 เดือน หนึ่งในนั้นเป็นหนังสือผูกใบลานห่อด้วยผ้าเช็ดหน้าลายอยู่ในตู้ มีใบลาน ๒๘ ใบ จำนวน ๕๓ หน้า รายละเอียด ดังนี้

หน้าที่ ๑ – ๒ เป็นคำขึ้นต้นอาจจะเป็นคำนำ หรือวิธีการยกครู (เป็นตัวธรรมลาว)

หน้าที่ ๓ – ๑๒ เป็นกลุ่มยันต์มหาปรารถในใบลาน ๙ แผ่น ๆ ละ ๑๒ ดวง (ด้านหน้า ๖ ดวง ด้านหลัง ๖ ดวง ) รวมกันเป็น ๑๐๘ ดวง

หน้าที่ ๑๓ – ๑๘ มี ๒ หน้า ๆ ๗ ดวง

หน้าที่ ๑๙ มี ๕ ดวง

หน้าที่ ๒๐ มี ๕ ดวง

หน้าที่ ๒๑ เป็นยันต์สี่เหลี่ยม ๓ ยันต์ และเป็นดวง อีก ๑ ดวง

หน้าที่ ๒๒ มียันต์เก้ายอด ๒ ยันต์ ยันต์เหลี่ยม ๒ ยันต์

หน้าที่ ๓๐ – ๕๒ เป็นอักขระตัวธรรมลาว ( อาจเป็นคาถาต่าง ๆ )

         เฉพาะส่วนของยันต์มหาปรารถนาโครงสร้างหรือกระดูกยันต์เหมือนกันทั้งหมด แต่มีอักขระที่ซ้ำกันทุกยันต์อยู่ ๓ อักขระ คือคำว่า นะ วะ ภา หลวงปู่ท่านได้ถอดอักขระจากยันต์ทั้ง ๑๐๘ ดวงออกมา ๒ ยันต์ คือยันต์มหาปรารถนา และยันต์มหาโภคทรัพย์ ส่วนยันต์และคาถาอื่น ๆ ก็มีใช้อยู่บ้างแต่ไม่มาก


รูปที่ ๔ ยันต์ต้นฉบับใบลาน ๑๐๘ ดวง

ท่านพระครูสุนทรชยาภิวัฒน์ กรุณาให้ถ่ายรูปไว้

            ในใบลานนั้นไม่ได้มียันต์นะวะภาเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่มีอย่างอื่นอีกมากมายหลายอย่าง เท่าที่ผู้เขียนพอจะนำเสนอได้มีดังนี้ (ได้นำต้นฉบับจากใบลานและยันต์ที่ปรับภาพให้ชัดเจนมาเปรียบเทียบกันไว้ด้วยแล้ว)






ที่มาของยันต์มหาปรารถนา

ที่มาของยันต์มหาปรารถนา


              เมื่อวันที่ ๑๕ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๔๑ ได้มีโอกาสไปกราบหลวงปู่ที่วัดธาตุมหาชัย ขณะนั้น ถ้าจำไม่ผิดทางวัดกำลังรื้อกุฎิไม้ที่หลวงปู่พักเพื่อสร้างใหม่ เนื่องจากปลวกกัดกินจนใกล้จะพัง หลวงปู่จึงได้ย้ายที่พักไปที่อาคารที่พักพระเถระผู้ใหญ่ (อยู่ด้านหลังอาคารพิพิธภัณฑ์ที่กำลังสร้าง)


              วันนั้นมีพระบวชใหม่พรรษาน้อยรูปหนึ่งได้มาบอกขอร้องให้พาไปกราบนมัสการหลวงปู่ด้วยเพราะท่าน มีศรัทธาต่อหลวงปู่อย่างมาก จำได้ว่าวันนั้นน่าจะเป็นเวลาบ่าย 2 โมง ได้ไปขออนุญาตกราบท่าน เป็นเวลาเหมาะที่สุดเพราะหลวงปู่ไม่มีญาติโยมมาพบเลย เณรที่คอยรับใช้หลวงปู่จึงบอกว่าหลวงปู่ให้เข้าไปพบที่ในกุฏิ และขณะนั้นมีนายช่างซ่อมเครื่องบินของกองทัพอากาศพาภรรยามากราบหลวงปู่ครั้งแรกเช่นกัน จึงได้เข้าไปกราบท่านเป็นคณะเดียวกัน

             หลวงพี่บวชใหม่ท่านนั้นได้กราบสนทนากับหลวงปู่เรื่องการปฎิบัติธรรมเจริญกรรมฐาน ท่านได้เมตตาอธิบายให้ฟังอย่างไม่เบื่อหน่ายตลอดจนตอบข้อซักถามหลายแง่มุม ก่อนกลับหลวงพี่ได้ถอดลูกประคำหยกและพระเครื่องขอความเมตตาหลวงปู่ช่วยอธิษฐานจิตให้ด้วย ท่านได้กำลูกประคำและพระเครื่องรวมกับที่ผมได้ถอดจากคอให้ท่านถือไว้ด้วย ท่านเมตตาอธิษฐานจิตอยู่ซักครู่หนึ่งพร้อมกับเป่ารดลงไปแล้วคืนมาให้ และบอกว่า “การให้ปราณคือการให้ชีวิต บางท่านก็ให้ด้วยการรดน้ำมนต์ บางท่านก็ให้ด้วยการเคาะ บางท่านเพียงจ้องมองก็เสร็จแล้ว ”


          ท่านได้สอบถามนายทหารอากาศท่านนั้นว่ามาจากไหน พอทราบว่าเพิ่งมาจากกรุงเทพครั้งแรก ท่านก็ยิ้มอย่างเมตตา ไม่รู้ผมคิดอย่างไรในขณะนั้น ได้กราบขอเมตตาให้ท่านเขียนอะไรให้ลูกหลานด้วย ใจจริงอยากให้ท่านเขียนคำอวยพรให้ แต่ท่านกลับนำสมุดบันทึกของผมไปกางแล้วนำไม้บรรทัดวางทาบลงไปแล้วเขียนยันต์ลงกระดาษ เสร็จแล้วยื่นส่งให้นายทหารท่านนั้น 1 แผ่น แล้วเขียนอีกแผ่นหนึ่งให้กระผม แต่ท่านไม่ได้ลงวันที่ จึงเรียนท่านว่าหลวงปู่ยังไม่ลงวันที่เลย ท่านบอกว่าให้เขียนวันที่เอาเอง เลยได้โอกาสสอบถามที่มาของยันต์นี้ ท่านบอกว่ายันต์นี้มีชื่อว่า “ยันต์สมปรารถนา” ซึ่งลูกศิษย์ส่วนมากมักจะเล่าขานกันว่าเป็น ยันต์มหาปรารถนา ซึ่งก็คงไม่ผิดจากความเป็นจริง


รูปที่ ๓ ยันต์มหาปรารถนา
ลายมือหลวงปู่คำพันธ์ โฆสปัญโญ
หลวงปู่เมตตาเขียนให้ตั้งแต่วันที่ ๑๕ มิถุนายน ๒๕๔๑


          ด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ได้เรียนถามท่านว่ามีประโยชน์อย่างไร ท่านตอบว่ามีประโยชน์มากน้อยคนนักจะได้ ให้เก็บไว้ให้ดีต่อไปจะมีประโยชน์มาก ดีกว่าคำอวยพรอีก

         หลังจากกราบลาท่านแล้ววันต่อมาผู้เขียนได้นำมาเข้าเครื่องถ่ายเอกสารจำนวน ๒๐๐ แผ่น นำกลับไปถวายท่าน ท่านบอกว่า ที่นำมานั้นท่านรับไว้ แต่จะไม่แจกให้ญาติโยม เพราะกลัวว่าจะมีคนนำไปทำเป็นการค้า จึงได้กราบเรียนถามที่มาของยันต์ ท่านได้เมตตาเล่าให้ฟังดังต่อไปนี้


          “หลวงปู่พรหมา อยู่ที่บ้านม่วง ห่างจากบ้านมหาชัยไปทางบ้านนกเหาะ บ้านสีทนประมาณ ๑๐ กม. ท่านนี้มีความสำคัญมาก (ชาวบ้านจะรู้กันในนาม หลวงปู่พรหมา แห่งนครจำปาศักดิ์ ) เป็นคนมาจากทางฝั่งลาว เป็นพระอภิญญา เพราะท่านเดินบิณฑบาตจากบ้านม่วงมาสกลนคร หรือ จาก บ้านม่วงไปธาตุพนม เรณูนคร แล้วกลับมาทันฉันจังหันเช้าได้อย่างน่าอัศจรรย์ใจ

          หลังจากหลวงปู่พรหมาละสังขารแล้ว ลูกหลานของท่านได้นำเครื่องอัฐบริขาร เครื่องใช้ต่าง ๆ มาถวายไว้ให้หลวงปู่คำพันธ์ โฆสปัญโญ ที่วัดธาตุมหาชัย หลวงปู่คำพันธ์ได้พิจารณารับไว้ ในจำนวนสิ่งของนั้น มีแผ่นยันต์ จารลงใบลาน ตอนที่ผู้เขียนถามหลวงปู่ท่านพยายามให้เณรหาดูแต่ไม่พบ เพราะเก็บไว้ดี อาจหลงที่เก็บ ผู้เขียนเลยไม่ได้เห็นแผ่นยันต์นั้นกับตาตัวเอง แต่ได้สอบถามหลวงพ่อทองตอนยังมีชีวิตอยู่ ท่านเป็นเณรของหลวงปู่คำพันธ์ ท่านบอกว่าเป็นใบลาน ตอนนี้เก็บรักษาไว้กับ ท่านพระครูสุนทรชยาภิวัฒน์ ( สมัย รกฺขิตธมฺโม ) เจ้าอาวาสวัดธาตุมหาชัย (๐๘๑-๙๖๕๖๘๖๗) ”


             หลังจากหลวงปู่พิจารณาแผ่นยันต์นั้นแล้ว ท่านได้บอกกับลูกหลานหลวงปู่พรหมาว่า เป็นของดีนะ ให้เก็บรักษาไว้ให้ดี หลวงปู่ท่านได้คืนผูกแผ่นยันต์ให้ลูกหลานหลวงปู่พรหมา หลังจากนั้นประมาณ 2 – 3 วัน ลูกหลานของหลวงปู่พรหมาได้กลับมาหาหลวงปู่คำพันธ์อีก แล้วได้ถวายยันต์นั้นไว้กับหลวงปู่คำพันธ์ (ผู้เขียนไม่ได้สอบถามว่าเป็นวันเวลา พ.ศ.ใด) แต่ได้ถามว่ายันต์นี้มีชื่อว่า อย่างไร ท่านตอบว่า เป็นยันต์มหาปรารถนา หรือทางไทย เราเรียกว่า ยันต์สมปรารถนา เรื่องนี้มีข้อสังเกตว่า ในภายหลังยันต์นี้อาจเรียกชื่อตาม เหรียญรุ่นมหาปรารถนา และรุ่นสมปรารถนา ที่โด่งดังก็ได้ 

             ภายหลังต่อมาผู้เขียนได้ศึกษายันต์ในใบลานของหลวงปู่จากพระครูสุนทรชยาภิวัฒน์   ทำให้ทราบว่า ตำรายันต์และคาถาอาคมที่กำกับในใบลานนั้นเป็นตำราเก่าแก่ทางลุ่มแม่น้ำโขง  (ต้องปูพื้นให้ทราบก่อนว่าอาณาจักรศรีโคตรบูรณ์นั้นครอบคลุมมาถึงดินแดนภาคตะวันออกเฉียงเหนือทั้งหมด )  ดังนั้น ตัวอักขระในยันต์จึงเป็น  อักขระตัวธรรมลาว ซึ่งเป็นของสูง และมีความศักดิ์สิทธิ์ในตัว  หลวงปู่บอกว่า เป็นตัวหนังสือพระอรหันต์  ไม่ต้องปลุกเสก   

            ส่วนยันต์มหาปรารถนา หรือ ยันต์สมปรารถนา ชื่อเดิมในภาษาลาวว่า  ยันต์ไขคำปาก   หมายถึงพูดสิ่งใดแล้วได้สิ่งนั้นประหนึ่งคำพูดนั้นเป็นวาจาสิทธิ์  สมดั่งใจปรารถนา  ลูกศิษย์ของหลวงปู่ในนครพนมจึงตั้งชื่อว่า  ยันต์สมปรารถนา หรือ ยันต์มหาปรารถนา 






วันศุกร์ที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2552

ประวัติหลวงปู่คำพันธ์ โฆสปัญโญ (เขียนจากคำบอกเล่าของหลวงปู่)


               หลวงปู่คำพันธ์ โฆสปัญโญ มีชื่อสกุลว่า คำพันธ์ ศรีสุวงศ์ เกิดเมื่อวันที่ 10 มกราคม พ.ศ.2458 บ้านหนองหอย หมู่ที่ 4 ต.นาแก อ.นาแก จ.นครพนม

          ต้นตระกูล ของท่านมีเชื้อสายมาจากทางจังหวัดร้อยเอ็ด บ้านไผ่อินทรีย์ บ้านนาสะแบง โยมพ่อแท้ชื่อ นายเคน โยมมารดา ชื่อนางหล่อม หลวงปู่มีน้อง ชื่อคำพวง เสียชีวิตอายุประมาณ 70 ปี ตอนหลวงปู่อายุได้ 5 ปี โยมพ่อเสียชีวิต โยมมารดาได้แต่งงานใหม่กับพ่อเลี้ยง ชื่อนายแสง ซึ่งรักท่านและน้องมาก

         หลวงปู่เล่าว่า โยมมารดาอายุ 42 ปี ตอนนั้นหลวงปู่อายุ 24 ปี ได้สอนท่านด้วย คำพูดเป็นอมตะมากว่า “เฮ็ดจั่งเพิ่น อย่าให้เฮ็ดจั่งเพิ่น แต่ให้เฮ็ด คือเพิ่น” และ “ไปป่าให้เตรียมไม้ปัดพื้น ไปนำ มันขะลำ” หลวงปู่บวชได้ 6 ปีถึงได้รู้ในตำรา ว่า ไม้ทุกต้นในป่านั้นเป็นยาสมุนไพรรักษาโรคได้

           หลวงปู่คำพันธ์ท่านได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุครั้งแรกเมื่ออายุ ระหว่าง 20 - 24 ปี ท่านพระครูสัจจาภิราม (ญาถ่านพิม ) วัดธาตุศรีคุณ อำเภอนาแก จังหวัดนครพนม เจ้าคณะอำเภอนาแกองค์แรกเป็นอุปัชฌาย์    
   
          หลวงปู่คำพันธ์พูดถึงหลวงปู่พิมว่า ก่อนท่านจะนิพพานเคยสั่งให้กลับมา สร้างรูปหล่อของหลวงปู่พิมพ์ไว้ที่วัดธาตุศรีคุณ ท่านเป็นผู้ที่จิตใจสบาย อารมณ์ดี ไม่มีสิ่งใดมากระทบให้เกิดอารมณ์ได้ 

                                        รูปที่ ๒ พระอุปัชฌาย์รูปที่หนึ่ง
                   ของหลวงปู่คำพันธ์ โฆสปัญโย หลวงปู่พระครูสัจจาภิราม (พิม)




พระครูนาครธรรมนิเทศ (หน่าน)

              อุปสมบทครั้งที่สอง เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2488 อายุได้ 30 ปี โดยมีท่านพระครูนาครธรรมนิเทศ (ญาคูหน่าน ) วัดโพธิ์ชัย บ้านต้นแหน อำเภอนาแก จังหวัดนครพนม เจ้าคณะอำเภอนาแกองค์ที่สองเป็นอุปัชฌาย์ ( ผู้เขียนได้นำรูปขยายอุปัชฌาย์ ทั้งสองของท่านมาถวาย ท่านได้ติดไว้บนประตูทางเข้ากุฏิที่หลวงปู่มรณะภาพต่อจากรูปหลวงปู่เสาร์ )                    หลวงปู่ชา สุภัทโท หลวงปู่พุธ ฐานิโย กับหลวงปู่คำพันธ์ โฆสปัญโญ เป็นสหายธรรมกัน ท่านไม่เคยพบหลวงปู่มั่นเลย คลาดกันทุกครั้ง แต่เคยฟังธรรมะกับ หลวงปู่เสาร์ ที่บ้านหนองหอย อำเภอนาแก นครพนม จึงให้ ความเคารพนับถือหลวงปู่เสาร์เป็นพระอาจารย์สอนกรรมฐานเพียงแต่ต่างนิกายกัน หลวงปู่เสาร์เป็นพระธรรมยุติ ส่วนหลวงปู่คำพันธ์เป็นพระมหานิกาย

                  ท่านเรียนกรรมฐานจากพระอาจารย์หลายท่าน เช่นหลวงปู่กินรี ( ที่บ้านหนองฮี อ.ปลาปาก นครพนม ),หลวงปู่เสาร์ (ที่บ้านโพนดู่,หนองหอย อ.นาแก นครพนม) ผ้าขาวครุฑ (ที่จังหวัดเลย เป็นลูกศิษย์ของญาถ่านสำเร็จลุน ท่านเป็นคนจากบ้านหนองหอยเป็นญาติหลวงปู่ กระดูกของท่านส่วนหนึ่งหลวงปู่ได้นำมาไว้ที่วัดส้างพระอินทร์)


                   การสอนกรรมฐานทั้งสามท่านมีการสอนเหมือนกัน คือใช้คำภาวนาพุทโธ สอนสติปัฎฐาน ๔ ท่านจึงนำมาปฏิบัติเองจนเห็นพระอินทร์ในสมาธิ วันหนึ่งพระอินทร์มานั่งที่หัวครกกระเดื่องท่านนั่งอีกด้านหนึ่ง ถามว่าพระอินทร์มาทำไม ตอบว่ามานิมนต์สามเณรขึ้นสวรรค์ แรม ๑ ค่ำ (คือพรุ่งนี้) ท่านกลัวตายจึงนั่งภาวนาเดินจงกรมทั้งคืน จนเหนื่อย ได้นอนหลับไป และตกใจตื่นตอนดึก เหลียวมองเห็นสิ่งของเครื่องใช้ทุกสิ่งยังอยู่ ปลุกพระองค์ที่นอนอยู่ข้าง ๆ ก็ไม่ตื่น ท่านนึกว่าตายแล้ว จึงนั่งภาวนาอยู่จนสว่าง และบอกเพื่อนว่า ถ้าท่านตายให้เพื่อนตัดนิ้วชี้ทั้งข้างซ้ายและขวา นำไปตากให้แห้ง นำไปส่งให้พ่อแม่ของท่าน แต่ท่านก็ไม่ตายซักที


                อีกคราวหนึ่งท่านนั่งกรรมฐานแล้วเห็นแสงสว่างเหมือนกับหลอดไฟตกลงมาจากฟ้า กลายเป็นบันไดขึ้นสวรรค์ ท่านอธิษฐานให้แข็งแรงกว่าเดิมเพื่อจะได้ปีนขึ้นไปสวรรค์ แต่บันไดกลับหายไป ถ้ารู้จักมันแล้วหายไปหมด ตั้งแต่นั้นมาท่านจึงรู้วิธีแก้อารมณ์กรรมฐาน รู้จักวิปัสนูกิเลส และสอนกรรมฐานคนอื่นได้



วิมุติธรรม

ปางคราวไปร่วมร้อง หาธรรม
วัดอรัญญะบำ เพ็ญนั้น
บุญญาที่ชักนำ หนุนส่ง
ให้ดื่มด่ำดุจดั้น สู่แคว้น วิมุติหมาย


ยอกรกราบที่เท้า อริยะสงฆ์
หลวงปู่คำพันธ์ลง สั่งสอน
บอกแนวมรรคาตรง โลกุตระจิต
ปล่อยขันธ์ห้าต่อต้อน สู่แดน นฤพาน


ดังจันทร์งามแจ่มหล้า ราตรี
ทอทาบอาบปฐพี ทั่วพื้น
นวลใยยวลฤดี ชื้นฉ่ำ ฤานา
มหาสติคร่าวคลื้น ดูกาย ในกาย


ดั่งเทวีเจ้าสาว ไหมงาม
สองมือกวักมือตาม แกว่งหมุน
ไหมต้มไหมทองวาม เส้นสาย ต่อนา
ม้วนสติต่างกงลุ้น เพ่งธรรม ในธรรม


จดจ่อจ้องสติไว้ เวทนา
สังขารเกิดขึ้นมา ให้รู้
ปัญญาก่อชักพา เวทนา ทุกข์สุข
ล่วงแล้วละผู้รู้ ทิ้งกอง สังขาร


ธรรมใดที่ละแล้ว ควรรู้
พิจารณาธรรมใดดู ให้เห็น
ก่อเกิดตามพรั่งพรู เติมต่อ
วิปัสสนาละเว้น ทุกขัง อนัตตา


มรรคแปดเป็นมรรคา ก้าวไป
ญาณทัสนะใน วิมุติถิ่น
โมหะโทสะใจ เปื้อนเกลื่อน
ลดโลภะละสิ้น วัฎฎะสงสาร

วรวิทย์ ตงศิริ
วันที่ ๙ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๔๔

คำนำจากผู้เขียน


               มูลเหตุที่มาของการเขียนเรื่อง “มหายันต์หลวงปู่คำพันธ์ โฆสปัญโญ” นี้ สืบเนื่องจากเห็นความเข้าใจของหลายท่านที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงของลูกศิษย์หลวงปู่ และมีเพื่อนพ้องหลายท่านได้มาปรารภขอให้เขียนเป็นข้อมูลเก็บไว้เผื่อในอนาคตจะได้มีความเห็นตรงกัน

            ขอทำความเข้าใจเป็นปฐมบทว่า เรื่องที่เขียนนี้เป็นความเห็นและประสบการณ์โดยตรงของผู้เขียนคนเดียวได้สอบถามลูกศิษย์ท่านอื่น ๆ เทียบเคียงดังรายชื่อที่จะปรากฏตลอดเนื้อหานี้แล้ว บุคคลเหล่านี้ยังมีตัวตนสอบถามได้

           ดังนั้น หากผู้อ่านท่านใดมีความเห็นแตกต่างออกไปจากนี้ ผู้เขียนไม่ขอคัดค้าน คิดแย้งความเห็นใด ๆ แต่ขอความกรุณาให้ท่านเขียนประสบการณ์ของท่านขึ้นมาเองอีกต่างหาก ไม่ต้องเอาข้อมูลนี้ไปวิจารณ์ใด ๆ แต่อนุญาตให้ลอกข้อมูลนี้เอาไปประกอบการเพื่อเป็นกุศลอื่นได้ หากเป็นการค้าควรขออนุญาตก่อน

              เมื่อวันเสาร์ ที่ ๑๙ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๐ ผู้เขียนได้เดินทางไปกราบขอข้อมูลจากท่านพระครูสุนทรชยาภิวัฒน์ ( สมัย รกฺขิตธมฺโม ) เจ้าอาวาสวัดมหาชัย หลังจากได้เห็นตำรายันต์หนังสือผูกใบลานนั้นแล้ว เมื่อกลับมาบ้านพักค่อนคืนก่อนสว่างฝันว่า มีเด็กผู้ชายมาขออยู่ด้วยประมาณ ๒๐ – ๓๐ คน แต่นิมิตว่าหลวงปู่ได้พาเด็กผู้ชายมาสมทบขออยู่ด้วยจำนวนมาก ท่านว่าเอาเด็กมาให้รวมกันแล้วได้ ๑๐๘ คน ผู้เขียนก็ตกใจตื่นขึ้นมาตอนเช้า นับว่าความฝันนี้เป็นนิมิตหมายที่ดีมาก

           หนังสือนี้แบ่งเนื้อหาออก เป็นหลายส่วนประกอบด้วย
         ๑.ประวัติและปฏิปทาหลวงปู่คำพันธ์ โฆสปัญโญ
         ๒.ที่มาของยันต์มหาปรารถนาและวัตถุมงคลที่มียันต์กำกับ
         ๓.ธรรมะที่หลวงปู่ได้อธิบายความไว้ เรื่องปฏิจสมุปบาท ธรรมะวันเกิดและนิพพานอยู่ที่ไหน
        ๔.การเจริญธาตุอธิษฐานจิตนั่งปรกและการแผ่เมตตาด้วยเทียนมงคล
        ๕.เทวนาคราช ยันต์มหาฤาษีและนาคราช

              ขอกราบขอบพระคุณท่านพระครูสุนทรชยาภิวัฒน์ ( สมัย รกฺขิตธมฺโม ) วัดธาตุมหาชัย ท่านพระครูวินัยธร (ถาวร ฐิตธมโม) วัดพระยอดโฆสิตวราราม คุณชวลิต ลิขิตวัน ร้านสยามมอเตอร์ไซด์ นครพนม ที่กรุณาให้ข้อมูลและหลักฐานในการค้นคว้าครั้งนี้ และ คุณนอมมณี วงษ์รัตนา ลูกศิษย์หลวงปู่จากกรุงเทพมหานคร กำนันวรเดช จริยะวรกุล  คุณนัธทวัฒน์ ถิรสัตยาพิทักษ์ จังหวัดภูเก็ต ที่สนับสนุนการจัดพิมพ์ร่วมบุญกุศลมาโดยตลอดอย่างสม่ำเสมอ และท่านนายกเทศมนตรีจังหวัดนครพนม คุณพิศิษฐ์ ปิติพัฒน์ พร้อมคุณนายราศี ปิติพัฒน์ ลูกศิษย์ที่ให้ความเคารพหลวงปู่อย่างมากและนำคำสอนของหลวงปู่ไปใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาจังหวัดนครพนมให้เจริญรุ่งเรืองรุดหน้าทุกด้านอย่างไม่หยุดยั้ง ที่ให้การสนับสนุนการจัดพิมพ์ครั้งนี้

              อานิสงส์ผลบุญที่เกิดขึ้นจากการเขียนเรื่อง “มหายันต์หลวงปู่คำพันธ์ โฆสปัญโญ” นี้ ข้าพเจ้าขอน้อมกราบอาราธนาพระบารมีพระพุทธเจ้าองค์ปฐม พระพุทธเจ้าทุกพระองค์ พระปัจเจกพุทธเจ้าทุกพระองค์ พระอรหันต์ทุกพระองค์ ตลอดจนพระบารมีของหลวงปู่คำพันธ์ โฆสปัญโญ โปรดดลบันดาลให้พุทธบริษัททุกท่านทั้งแปดทิศที่ได้อ่านหนังสือนี้ โดยเฉพาะ คุณพ่อเค่งเซ็ง - คุณแม่ราศี ตงศิริ คุณป้ามณีวรรณ ตงศิริ ญาติพี่น้องทุกท่าน และเพื่อนสหชาติทุกท่านทุกภพชาติของข้าพเจ้า จงสำเร็จผลตามความปรารถนาในทุกประการ ขอให้มีแต่ความสุขกาย สุขใจ ปราศจากทุกข์กาย ทุกข์ใจ มารภัยร้ายใดอย่ามากล้ำกราย หายจากโรคภัยไข้เจ็บ สุขภาพแข็งแรง เจริญในลาภยศ สรรเสริญสุขทุกประการ และขอให้ถึงพระนิพพานในชาตินี้ด้วยทุกท่านเถิด

วรวิทย์ ตงศิริ
(ฤาษีเอก  อมตะ)
วันพุธ ที่ ๑๖ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๐


คำยกย่องหนังสือมหายันต์หลวงปู่คำพันธ์ โฆสปัญโญ

                 คุณวรวิทย์เป็นคนที่ผมรู้จักมักคุ้นในฐานะที่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิด้านการศึกษาที่โรงเรียนธาตุนารายณ์วิทยา จังหวัดสกลนคร ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันทำให้รู้จักคุณวรวิทย์ มากขึ้นและการที่ได้พบปะกันสม่ำเสมอทำให้ผมได้รู้จักตัวตนที่แท้จริงของคุณวรวิทย์มากขึ้นอย่างแจ้งชัด ในเรื่องของความศรัทธาในพระพุทธศาสนา การทำบุญเฉพาะตัว และการทำบุญของผู้คนในสังคม คุณวรวิทย์ไม่เคยปฏิเสธ ผมไม่รู้ว่าคุณวรวิทย์จะสั่งสมบุญไปเพื่อจะกลับมาเกิดอีกหรือเปล่า (จะต้องถามเจ้าตัวดู) หรือเพื่อจะสั่งสมบุญไว้เพื่อจะต้องไม่กลับมาก่อภพก่อชาติอีก นี่แหละความเป็นตัวตนของคุณวรวิทย์

              อีกสิ่งหนึ่งหรืออีกหลายสิ่งที่คุณวรวิทย์ทำ เช่น การทำบุญกับงานบุญกฐิน ผ้าป่า สร้างวัด พระพุทธรูป เครื่องรางของขลัง และรวมถึงเรื่องบุญไม่เคยขาดว่างเว้นจากการทำบุญ ในส่วนหนังสือที่เกี่ยวข้องกับพระอาจารย์ที่เคารพ คุณวรวิทย์ได้พยายามแจกจ่ายโดยไม่คิดมูลค่าเป็นเงินทอง ขอให้ได้ทำก็เป็นความสุขใจที่ได้ตอบแทนพระคุณครูบาอาจารย์ที่ตนเองเคารพนับถือ

            หนังสือมหายันต์หลวงปู่คำพันธ์ โฆสปัญโญ เป็นหนังสือที่กล่าวถึงยันต์ของหลวงปู่ว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร และทำไมยันต์มหาปรารถนาจึงมีความสำคัญ คุณวรวิทย์ได้พยายามศึกษาและค้นคว้านำเสนอในหนังสือเล่มนี้ เพื่อให้ยันต์มหาปรารถนาได้แจกจ่ายไปในหมู่เหล่าชาวพุทธที่นับถือในพระพุทธศาสนาและในองค์หลวงปู่คำพันธ์
ยันต์จึงมีที่มาในครั้งโบราณ ยันต์เป็นเครื่องกำกับในเรื่องคุณธรรม ความเชื่อและศรัทธา เนื่องจากยันต์มีหลายประเภทใช้ในเรื่องความอยู่ยงคงกระพัน เมตตามหานิยม ป้องกันสิ่งชั่วร้าย และความมีโชคลาภเป็นต้น

                 ที่มาของยันต์เดิมใช้เขียน(จาร)ลงในใบลาน ผืนผ้า เสื้อ และต่อมามีการสักลงในเรือนร่างของมนุษย์ (กลายเป็นจิตกรรมเคลื่อนที่) ยันต์จึงเป็นส่วนหนึ่งในความเชื่อของคนที่นับถือพุทธศาสนา ยันต์มหาปรารถนา
ที่หลวงปู่คำพันธ์ได้เขียน(จาร)ไว้ให้ลูกศิษย์ได้มีไว้ใช้และเคารพกราบไหว้ให้เกิดความเป็นสิริมงคลแห่งชีวิตของลูกศิษย์

                คุณวรวิทย์จึงเป็นบทส่งท้ายที่นำเรื่องดี ๆ ที่เป็นมงคลนำมาฝากไว้ให้ชาวพุทธที่เห็นคุณค่าทางด้านจิตใจ ความเชื่อศรัทธาในองค์หลวงปู่คำพันธ์ โฆสปัญโญ และยันต์มหาปรารถนายังเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ
คุณวรวิทย์ได้นำยันต์มหาปรารถนามาอนุรักษ์ซึ่งเป็นของโบราณ อันเป็นประวัติศาสตร์ศาสนาตามคติความเชื่อของชาวพุทธไว้ให้ยั่งยืนสืบไป

ชัยมงคล จินดาสมุทร์
กลุ่มนักวิชาการภูพานลุ่มแม่น้ำโขง
วันศุกร์ ที่ ๕ ตุลาคม ๒๕๕๐