วันศุกร์ที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2552

ประวัติหลวงปู่คำพันธ์ โฆสปัญโญ (เขียนจากคำบอกเล่าของหลวงปู่)


               หลวงปู่คำพันธ์ โฆสปัญโญ มีชื่อสกุลว่า คำพันธ์ ศรีสุวงศ์ เกิดเมื่อวันที่ 10 มกราคม พ.ศ.2458 บ้านหนองหอย หมู่ที่ 4 ต.นาแก อ.นาแก จ.นครพนม

          ต้นตระกูล ของท่านมีเชื้อสายมาจากทางจังหวัดร้อยเอ็ด บ้านไผ่อินทรีย์ บ้านนาสะแบง โยมพ่อแท้ชื่อ นายเคน โยมมารดา ชื่อนางหล่อม หลวงปู่มีน้อง ชื่อคำพวง เสียชีวิตอายุประมาณ 70 ปี ตอนหลวงปู่อายุได้ 5 ปี โยมพ่อเสียชีวิต โยมมารดาได้แต่งงานใหม่กับพ่อเลี้ยง ชื่อนายแสง ซึ่งรักท่านและน้องมาก

         หลวงปู่เล่าว่า โยมมารดาอายุ 42 ปี ตอนนั้นหลวงปู่อายุ 24 ปี ได้สอนท่านด้วย คำพูดเป็นอมตะมากว่า “เฮ็ดจั่งเพิ่น อย่าให้เฮ็ดจั่งเพิ่น แต่ให้เฮ็ด คือเพิ่น” และ “ไปป่าให้เตรียมไม้ปัดพื้น ไปนำ มันขะลำ” หลวงปู่บวชได้ 6 ปีถึงได้รู้ในตำรา ว่า ไม้ทุกต้นในป่านั้นเป็นยาสมุนไพรรักษาโรคได้

           หลวงปู่คำพันธ์ท่านได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุครั้งแรกเมื่ออายุ ระหว่าง 20 - 24 ปี ท่านพระครูสัจจาภิราม (ญาถ่านพิม ) วัดธาตุศรีคุณ อำเภอนาแก จังหวัดนครพนม เจ้าคณะอำเภอนาแกองค์แรกเป็นอุปัชฌาย์    
   
          หลวงปู่คำพันธ์พูดถึงหลวงปู่พิมว่า ก่อนท่านจะนิพพานเคยสั่งให้กลับมา สร้างรูปหล่อของหลวงปู่พิมพ์ไว้ที่วัดธาตุศรีคุณ ท่านเป็นผู้ที่จิตใจสบาย อารมณ์ดี ไม่มีสิ่งใดมากระทบให้เกิดอารมณ์ได้ 

                                        รูปที่ ๒ พระอุปัชฌาย์รูปที่หนึ่ง
                   ของหลวงปู่คำพันธ์ โฆสปัญโย หลวงปู่พระครูสัจจาภิราม (พิม)




พระครูนาครธรรมนิเทศ (หน่าน)

              อุปสมบทครั้งที่สอง เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2488 อายุได้ 30 ปี โดยมีท่านพระครูนาครธรรมนิเทศ (ญาคูหน่าน ) วัดโพธิ์ชัย บ้านต้นแหน อำเภอนาแก จังหวัดนครพนม เจ้าคณะอำเภอนาแกองค์ที่สองเป็นอุปัชฌาย์ ( ผู้เขียนได้นำรูปขยายอุปัชฌาย์ ทั้งสองของท่านมาถวาย ท่านได้ติดไว้บนประตูทางเข้ากุฏิที่หลวงปู่มรณะภาพต่อจากรูปหลวงปู่เสาร์ )                    หลวงปู่ชา สุภัทโท หลวงปู่พุธ ฐานิโย กับหลวงปู่คำพันธ์ โฆสปัญโญ เป็นสหายธรรมกัน ท่านไม่เคยพบหลวงปู่มั่นเลย คลาดกันทุกครั้ง แต่เคยฟังธรรมะกับ หลวงปู่เสาร์ ที่บ้านหนองหอย อำเภอนาแก นครพนม จึงให้ ความเคารพนับถือหลวงปู่เสาร์เป็นพระอาจารย์สอนกรรมฐานเพียงแต่ต่างนิกายกัน หลวงปู่เสาร์เป็นพระธรรมยุติ ส่วนหลวงปู่คำพันธ์เป็นพระมหานิกาย

                  ท่านเรียนกรรมฐานจากพระอาจารย์หลายท่าน เช่นหลวงปู่กินรี ( ที่บ้านหนองฮี อ.ปลาปาก นครพนม ),หลวงปู่เสาร์ (ที่บ้านโพนดู่,หนองหอย อ.นาแก นครพนม) ผ้าขาวครุฑ (ที่จังหวัดเลย เป็นลูกศิษย์ของญาถ่านสำเร็จลุน ท่านเป็นคนจากบ้านหนองหอยเป็นญาติหลวงปู่ กระดูกของท่านส่วนหนึ่งหลวงปู่ได้นำมาไว้ที่วัดส้างพระอินทร์)


                   การสอนกรรมฐานทั้งสามท่านมีการสอนเหมือนกัน คือใช้คำภาวนาพุทโธ สอนสติปัฎฐาน ๔ ท่านจึงนำมาปฏิบัติเองจนเห็นพระอินทร์ในสมาธิ วันหนึ่งพระอินทร์มานั่งที่หัวครกกระเดื่องท่านนั่งอีกด้านหนึ่ง ถามว่าพระอินทร์มาทำไม ตอบว่ามานิมนต์สามเณรขึ้นสวรรค์ แรม ๑ ค่ำ (คือพรุ่งนี้) ท่านกลัวตายจึงนั่งภาวนาเดินจงกรมทั้งคืน จนเหนื่อย ได้นอนหลับไป และตกใจตื่นตอนดึก เหลียวมองเห็นสิ่งของเครื่องใช้ทุกสิ่งยังอยู่ ปลุกพระองค์ที่นอนอยู่ข้าง ๆ ก็ไม่ตื่น ท่านนึกว่าตายแล้ว จึงนั่งภาวนาอยู่จนสว่าง และบอกเพื่อนว่า ถ้าท่านตายให้เพื่อนตัดนิ้วชี้ทั้งข้างซ้ายและขวา นำไปตากให้แห้ง นำไปส่งให้พ่อแม่ของท่าน แต่ท่านก็ไม่ตายซักที


                อีกคราวหนึ่งท่านนั่งกรรมฐานแล้วเห็นแสงสว่างเหมือนกับหลอดไฟตกลงมาจากฟ้า กลายเป็นบันไดขึ้นสวรรค์ ท่านอธิษฐานให้แข็งแรงกว่าเดิมเพื่อจะได้ปีนขึ้นไปสวรรค์ แต่บันไดกลับหายไป ถ้ารู้จักมันแล้วหายไปหมด ตั้งแต่นั้นมาท่านจึงรู้วิธีแก้อารมณ์กรรมฐาน รู้จักวิปัสนูกิเลส และสอนกรรมฐานคนอื่นได้



วิมุติธรรม

ปางคราวไปร่วมร้อง หาธรรม
วัดอรัญญะบำ เพ็ญนั้น
บุญญาที่ชักนำ หนุนส่ง
ให้ดื่มด่ำดุจดั้น สู่แคว้น วิมุติหมาย


ยอกรกราบที่เท้า อริยะสงฆ์
หลวงปู่คำพันธ์ลง สั่งสอน
บอกแนวมรรคาตรง โลกุตระจิต
ปล่อยขันธ์ห้าต่อต้อน สู่แดน นฤพาน


ดังจันทร์งามแจ่มหล้า ราตรี
ทอทาบอาบปฐพี ทั่วพื้น
นวลใยยวลฤดี ชื้นฉ่ำ ฤานา
มหาสติคร่าวคลื้น ดูกาย ในกาย


ดั่งเทวีเจ้าสาว ไหมงาม
สองมือกวักมือตาม แกว่งหมุน
ไหมต้มไหมทองวาม เส้นสาย ต่อนา
ม้วนสติต่างกงลุ้น เพ่งธรรม ในธรรม


จดจ่อจ้องสติไว้ เวทนา
สังขารเกิดขึ้นมา ให้รู้
ปัญญาก่อชักพา เวทนา ทุกข์สุข
ล่วงแล้วละผู้รู้ ทิ้งกอง สังขาร


ธรรมใดที่ละแล้ว ควรรู้
พิจารณาธรรมใดดู ให้เห็น
ก่อเกิดตามพรั่งพรู เติมต่อ
วิปัสสนาละเว้น ทุกขัง อนัตตา


มรรคแปดเป็นมรรคา ก้าวไป
ญาณทัสนะใน วิมุติถิ่น
โมหะโทสะใจ เปื้อนเกลื่อน
ลดโลภะละสิ้น วัฎฎะสงสาร

วรวิทย์ ตงศิริ
วันที่ ๙ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๔๔

คำนำจากผู้เขียน


               มูลเหตุที่มาของการเขียนเรื่อง “มหายันต์หลวงปู่คำพันธ์ โฆสปัญโญ” นี้ สืบเนื่องจากเห็นความเข้าใจของหลายท่านที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงของลูกศิษย์หลวงปู่ และมีเพื่อนพ้องหลายท่านได้มาปรารภขอให้เขียนเป็นข้อมูลเก็บไว้เผื่อในอนาคตจะได้มีความเห็นตรงกัน

            ขอทำความเข้าใจเป็นปฐมบทว่า เรื่องที่เขียนนี้เป็นความเห็นและประสบการณ์โดยตรงของผู้เขียนคนเดียวได้สอบถามลูกศิษย์ท่านอื่น ๆ เทียบเคียงดังรายชื่อที่จะปรากฏตลอดเนื้อหานี้แล้ว บุคคลเหล่านี้ยังมีตัวตนสอบถามได้

           ดังนั้น หากผู้อ่านท่านใดมีความเห็นแตกต่างออกไปจากนี้ ผู้เขียนไม่ขอคัดค้าน คิดแย้งความเห็นใด ๆ แต่ขอความกรุณาให้ท่านเขียนประสบการณ์ของท่านขึ้นมาเองอีกต่างหาก ไม่ต้องเอาข้อมูลนี้ไปวิจารณ์ใด ๆ แต่อนุญาตให้ลอกข้อมูลนี้เอาไปประกอบการเพื่อเป็นกุศลอื่นได้ หากเป็นการค้าควรขออนุญาตก่อน

              เมื่อวันเสาร์ ที่ ๑๙ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๐ ผู้เขียนได้เดินทางไปกราบขอข้อมูลจากท่านพระครูสุนทรชยาภิวัฒน์ ( สมัย รกฺขิตธมฺโม ) เจ้าอาวาสวัดมหาชัย หลังจากได้เห็นตำรายันต์หนังสือผูกใบลานนั้นแล้ว เมื่อกลับมาบ้านพักค่อนคืนก่อนสว่างฝันว่า มีเด็กผู้ชายมาขออยู่ด้วยประมาณ ๒๐ – ๓๐ คน แต่นิมิตว่าหลวงปู่ได้พาเด็กผู้ชายมาสมทบขออยู่ด้วยจำนวนมาก ท่านว่าเอาเด็กมาให้รวมกันแล้วได้ ๑๐๘ คน ผู้เขียนก็ตกใจตื่นขึ้นมาตอนเช้า นับว่าความฝันนี้เป็นนิมิตหมายที่ดีมาก

           หนังสือนี้แบ่งเนื้อหาออก เป็นหลายส่วนประกอบด้วย
         ๑.ประวัติและปฏิปทาหลวงปู่คำพันธ์ โฆสปัญโญ
         ๒.ที่มาของยันต์มหาปรารถนาและวัตถุมงคลที่มียันต์กำกับ
         ๓.ธรรมะที่หลวงปู่ได้อธิบายความไว้ เรื่องปฏิจสมุปบาท ธรรมะวันเกิดและนิพพานอยู่ที่ไหน
        ๔.การเจริญธาตุอธิษฐานจิตนั่งปรกและการแผ่เมตตาด้วยเทียนมงคล
        ๕.เทวนาคราช ยันต์มหาฤาษีและนาคราช

              ขอกราบขอบพระคุณท่านพระครูสุนทรชยาภิวัฒน์ ( สมัย รกฺขิตธมฺโม ) วัดธาตุมหาชัย ท่านพระครูวินัยธร (ถาวร ฐิตธมโม) วัดพระยอดโฆสิตวราราม คุณชวลิต ลิขิตวัน ร้านสยามมอเตอร์ไซด์ นครพนม ที่กรุณาให้ข้อมูลและหลักฐานในการค้นคว้าครั้งนี้ และ คุณนอมมณี วงษ์รัตนา ลูกศิษย์หลวงปู่จากกรุงเทพมหานคร กำนันวรเดช จริยะวรกุล  คุณนัธทวัฒน์ ถิรสัตยาพิทักษ์ จังหวัดภูเก็ต ที่สนับสนุนการจัดพิมพ์ร่วมบุญกุศลมาโดยตลอดอย่างสม่ำเสมอ และท่านนายกเทศมนตรีจังหวัดนครพนม คุณพิศิษฐ์ ปิติพัฒน์ พร้อมคุณนายราศี ปิติพัฒน์ ลูกศิษย์ที่ให้ความเคารพหลวงปู่อย่างมากและนำคำสอนของหลวงปู่ไปใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาจังหวัดนครพนมให้เจริญรุ่งเรืองรุดหน้าทุกด้านอย่างไม่หยุดยั้ง ที่ให้การสนับสนุนการจัดพิมพ์ครั้งนี้

              อานิสงส์ผลบุญที่เกิดขึ้นจากการเขียนเรื่อง “มหายันต์หลวงปู่คำพันธ์ โฆสปัญโญ” นี้ ข้าพเจ้าขอน้อมกราบอาราธนาพระบารมีพระพุทธเจ้าองค์ปฐม พระพุทธเจ้าทุกพระองค์ พระปัจเจกพุทธเจ้าทุกพระองค์ พระอรหันต์ทุกพระองค์ ตลอดจนพระบารมีของหลวงปู่คำพันธ์ โฆสปัญโญ โปรดดลบันดาลให้พุทธบริษัททุกท่านทั้งแปดทิศที่ได้อ่านหนังสือนี้ โดยเฉพาะ คุณพ่อเค่งเซ็ง - คุณแม่ราศี ตงศิริ คุณป้ามณีวรรณ ตงศิริ ญาติพี่น้องทุกท่าน และเพื่อนสหชาติทุกท่านทุกภพชาติของข้าพเจ้า จงสำเร็จผลตามความปรารถนาในทุกประการ ขอให้มีแต่ความสุขกาย สุขใจ ปราศจากทุกข์กาย ทุกข์ใจ มารภัยร้ายใดอย่ามากล้ำกราย หายจากโรคภัยไข้เจ็บ สุขภาพแข็งแรง เจริญในลาภยศ สรรเสริญสุขทุกประการ และขอให้ถึงพระนิพพานในชาตินี้ด้วยทุกท่านเถิด

วรวิทย์ ตงศิริ
(ฤาษีเอก  อมตะ)
วันพุธ ที่ ๑๖ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๐


คำยกย่องหนังสือมหายันต์หลวงปู่คำพันธ์ โฆสปัญโญ

                 คุณวรวิทย์เป็นคนที่ผมรู้จักมักคุ้นในฐานะที่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิด้านการศึกษาที่โรงเรียนธาตุนารายณ์วิทยา จังหวัดสกลนคร ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันทำให้รู้จักคุณวรวิทย์ มากขึ้นและการที่ได้พบปะกันสม่ำเสมอทำให้ผมได้รู้จักตัวตนที่แท้จริงของคุณวรวิทย์มากขึ้นอย่างแจ้งชัด ในเรื่องของความศรัทธาในพระพุทธศาสนา การทำบุญเฉพาะตัว และการทำบุญของผู้คนในสังคม คุณวรวิทย์ไม่เคยปฏิเสธ ผมไม่รู้ว่าคุณวรวิทย์จะสั่งสมบุญไปเพื่อจะกลับมาเกิดอีกหรือเปล่า (จะต้องถามเจ้าตัวดู) หรือเพื่อจะสั่งสมบุญไว้เพื่อจะต้องไม่กลับมาก่อภพก่อชาติอีก นี่แหละความเป็นตัวตนของคุณวรวิทย์

              อีกสิ่งหนึ่งหรืออีกหลายสิ่งที่คุณวรวิทย์ทำ เช่น การทำบุญกับงานบุญกฐิน ผ้าป่า สร้างวัด พระพุทธรูป เครื่องรางของขลัง และรวมถึงเรื่องบุญไม่เคยขาดว่างเว้นจากการทำบุญ ในส่วนหนังสือที่เกี่ยวข้องกับพระอาจารย์ที่เคารพ คุณวรวิทย์ได้พยายามแจกจ่ายโดยไม่คิดมูลค่าเป็นเงินทอง ขอให้ได้ทำก็เป็นความสุขใจที่ได้ตอบแทนพระคุณครูบาอาจารย์ที่ตนเองเคารพนับถือ

            หนังสือมหายันต์หลวงปู่คำพันธ์ โฆสปัญโญ เป็นหนังสือที่กล่าวถึงยันต์ของหลวงปู่ว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร และทำไมยันต์มหาปรารถนาจึงมีความสำคัญ คุณวรวิทย์ได้พยายามศึกษาและค้นคว้านำเสนอในหนังสือเล่มนี้ เพื่อให้ยันต์มหาปรารถนาได้แจกจ่ายไปในหมู่เหล่าชาวพุทธที่นับถือในพระพุทธศาสนาและในองค์หลวงปู่คำพันธ์
ยันต์จึงมีที่มาในครั้งโบราณ ยันต์เป็นเครื่องกำกับในเรื่องคุณธรรม ความเชื่อและศรัทธา เนื่องจากยันต์มีหลายประเภทใช้ในเรื่องความอยู่ยงคงกระพัน เมตตามหานิยม ป้องกันสิ่งชั่วร้าย และความมีโชคลาภเป็นต้น

                 ที่มาของยันต์เดิมใช้เขียน(จาร)ลงในใบลาน ผืนผ้า เสื้อ และต่อมามีการสักลงในเรือนร่างของมนุษย์ (กลายเป็นจิตกรรมเคลื่อนที่) ยันต์จึงเป็นส่วนหนึ่งในความเชื่อของคนที่นับถือพุทธศาสนา ยันต์มหาปรารถนา
ที่หลวงปู่คำพันธ์ได้เขียน(จาร)ไว้ให้ลูกศิษย์ได้มีไว้ใช้และเคารพกราบไหว้ให้เกิดความเป็นสิริมงคลแห่งชีวิตของลูกศิษย์

                คุณวรวิทย์จึงเป็นบทส่งท้ายที่นำเรื่องดี ๆ ที่เป็นมงคลนำมาฝากไว้ให้ชาวพุทธที่เห็นคุณค่าทางด้านจิตใจ ความเชื่อศรัทธาในองค์หลวงปู่คำพันธ์ โฆสปัญโญ และยันต์มหาปรารถนายังเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ
คุณวรวิทย์ได้นำยันต์มหาปรารถนามาอนุรักษ์ซึ่งเป็นของโบราณ อันเป็นประวัติศาสตร์ศาสนาตามคติความเชื่อของชาวพุทธไว้ให้ยั่งยืนสืบไป

ชัยมงคล จินดาสมุทร์
กลุ่มนักวิชาการภูพานลุ่มแม่น้ำโขง
วันศุกร์ ที่ ๕ ตุลาคม ๒๕๕๐


คำนิยมจากประธานเครือข่ายสร้างสรรค์เมืองสกล

ในยุคปัจจุบันคนรุ่นใหม่ เห็นคงจะไม่มีใครรู้จักว่ายันต์ เป็นอย่างไร เพราะไม่มีการศึกษาในหลักสูตรใดๆเลย เรื่องของยันต์จึงเป็นความลึกลับ อยู่ในเฉพาะกลุ่มคนที่มีความเชื่อเรื่องลึกลับ เล่นของ หรือใช้ในทำนองเพื่อปกป้องอำนาจลึกลับที่จะทำอันตรายต่อคน การที่คนรุ่นใหม่จะลงมาศึกษายันต์ดูเหมือนจะเป็นเรื่องยาก เนื่องจาก มีความรู้สึกเป็นเรื่องลึกลับ งมงาย ไร้สาระ ตกยุค แต่จะปฏิเสธซะทีเดียวก็ไม่กล้า ดังวลียอดนิยมไม่เชื่อก็อย่าลบหลู่ แสดงถึงอิทธิพลความเชื่อในเรื่องลึกลับก็ยังมีอยู่ในสังคมไทยทั่วไป
ในศาสนาพุทธถือว่าทุกสิ่งทุกอย่างเกิดขึ้นล้วนแต่มีเหตุหรือที่มาทั้งสิ้น ไม่มีอะไรเกิดขึ้นมาลอยๆ หรือเป็นปาฏิหาริย์ เพียงแต่เรายังไม่ทราบสาเหตุของการเกิดนั่นเอง ถ้าทราบสาเหตุการเกิดเรื่องลึกลับนั้นจะกลายเป็นเรื่องธรรมดาทันที ในเรื่องของยันต์ก็เช่นเดียวกัน มีสิ่งที่เป็นองค์ประกอบคือ วัสดุที่ใช้เขียน (ผ้า และหมึก) อักขระหรือรูปภาพที่สื่อถึงความเชื่อมโยงของพลัง และ พลังที่แฝงอยู่ในยันต์นั้น ถ้าเทียบเคียงกับวิทยาศาสตร์ ยันต์ก็คือแหล่งพลังงานมหาศาลที่ถูกเก็บไว้ พร้อมที่จะใช้งานถ้านำไป “เปิด” ใช้อย่างถูกวิธี ยันต์จึงเป็นภูมิปัญญาขั้นสูงของคนโบราณที่มีการค้นพบและถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น โดยไม่มีการตีพิมพ์เผยแพร่เหมือนวารสารในยุคปัจจุบัน เนื่องจากการเปิดใช้พลังงานในยันต์ ต้องอาศัยองค์ประกอบของจิตของผู้ใช้ร่วมด้วย ถ้ามีเจตนาในทางทุจริตก็อาจนำพลังงานมหาศาลนั้นไปทางทำลาย หรือในทางเพิ่มกิเลส ตัณหา อันจะนำไปสู่สังคมที่ไม่สงบสุข แต่ถ้าใช้ในทางที่ถูกต้องก็จะเกิดประโยชน์ต่อมนุษยชาติ การถ่ายทอดเทคโนโลยีขั้นสูงนี้ จึงจำเป็นต้องคัดเลือกบุคคลพิเศษที่มีวิสัยทัศน์ที่ดีต่อโลกเพื่อรับการถ่ายทอด จึงมีโอกาสสูญหายไปในที่สุด
อาจารย์วรวิทย์ ตงศิริ เป็นบุคคลที่มีความมุ่งมั่น มีจิตเป็นกุศลอย่างมาก มีความสามารถในการค้นคว้าสืบสาวหาข้อมูลมาถ่ายทอดต่อสาธารณชนให้เป็นเรื่องราวได้อย่างน่าอัศจรรย์ โดยเฉพาะเป็นข้อมูลเชิงปฏิบัติ ที่นำมาจากพระอริยสงฆ์ ผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบอย่างหลวงปู่คำพันธ์ โฆสปัญโญ ประกอบกับการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อเก็บบันทึกหลักฐานเพื่อสะดวกในการอ้างอิง เช่น เทปบันทึกเสียงหลวงปู่คำพันธ์ การใช้กล้องดิจิตอลบันทึกภาพเชื่อมโยงไปสู่การใช้อักษรธรรมซึ่งมีคนศึกษาน้อยลงทุกที นำมาพิมพ์เป็นรูปเล่ม เพื่อเผยแพร่ให้คนรุ่นหลังได้รู้จักและศึกษาต่อไป ผลของการจัดพิมพ์หนังสือนี้ จะเป็นพลังผลักดันให้อาจารย์วรวิทย์ ผู้เขียนมีสติปัญญาที่เฉียบคมต่อไป
อนึ่ง หลักการในพุทธศาสนา มุ่งเน้นให้พุทธศาสนิกชนปฏิบัติในทางสายเอกคือ มรรคมีองค์แปด จึงขอให้ท่านผู้อ่านได้เก็บเกี่ยวประโยชน์จากหนังสือเล่มนี้ เพื่อไปใช้ในการเจริญรอยตามพระพุทธองค์ อันนำไปสู่ความดับทุกข์ที่ถูกต้องต่อไป

ขออนุโมทนาบุญร่วมกับผู้เขียนและผู้เกี่ยวข้องทั้งหลาย
น.พ.ศิริโรจน์ กิตติสารพงษ์
ประธานเครือข่ายสร้างสรรค์เมืองสกล

คำนิยมจากประธานมูลนิธิวิทยาลัยชาวบ้าน

ผมขอชื่นชมอาจารย์วรวิทย์ ตงศิริ ที่เสียสละทำหน้าที่จัดพิมพ์หนังสือ มหายันต์หลวงปู่คำพันธ์ โฆสปัญโญ เล่มนี้ เพื่อเป็นธรรมะวิทยาทาน

อาจารย์วรวิทย์ ตงศิริ เป็นอาจารย์วิทยาลัยเทคนิคสกลนคร มีคุณสมบัติที่น่ายกย่องอย่างยิ่ง ดังนี้

- มีความรู้ดี
- มีคุณธรรม
- นำชุมชน
- มีกลวิธีสอน
- เอื้ออาทรต่อศิษย์
- ใช้ชีวิตเรียบง่าย
- มุ่งหมายเสียสละเพื่อสังคม

อาจารย์วรวิทย์ ตงศิริ เป็นผู้มีผลงานมากมาย ผมไม่สามารถจะบรรยายได้หมด สิ่งหนึ่งที่ผมอยากเขียนไว้เป็นข้อคิดตามแนวชีวิตของอาจารย์วรวิทย์ ตงศิริ ที่ผมรู้จักท่าน ท่านเป็นอาจารย์ที่มีความสุข เพราะท่านมีธรรมกำกับตน ขอตั้งหัวข้อว่า “ความสุขของคน อยู่ที่ตนมีธรรม”

ความ ดีทำไว้เถิด ประเสริฐยิ่ง
สุข แท้จริง เกิดแก่ตน กุศลหลาย
ของ ไม่ดี อย่านิยม อย่างงมงาย
คน สบาย เพราะความดี มากมีบุญ
อยู่ อย่างฉลาด ไม่ประมาท ในชีวิต
ที่ รู้คิด ใช้ปัญญา มานำหนุน
ตน ฝึกตน มีน้ำใจ ใฝ่การบุญ
มีธรรม ช่วย ค้ำจุน จึงเจริญ

วีระ รักความสุข
ประธานที่ปรึกษามูลนิธิวิทยาลัยชาวบ้าน
ประธานที่ปรึกษาเครือข่ายสร้างสรรค์เมืองสกล ( กลุ่มดี้ดี )
วันพฤหัสบดี ที่ ๔ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๕๐

คำอนุโมทนาบุญในการพิมพ์เผยแผ่หนังสือธรรมะ

อุกาสะ ข้าพเจ้าขอน้อมกราบอาราธนาพระบารมีทั้งสามสิบทัศน์ขององค์สมเด็จพระสัมมาพุทธเจ้าองค์ปฐมองค์พระสัมมาพุทธเจ้าทุกพระองค์ พระปัจเจกพุทธเจ้าทุกพระองค์ พระอรหันต์ทุกพระองค์ในพระนิพพาน มีหลวงปู่พระปัญจวัคคีย์ทั้งห้า พระโมคคัลลานะ พระสารีบุตร พระอุปคุต พระสิวลี พระอานนท์เถระเจ้า พระกัจจายะนะ หลวงปู่ปาน วัดบางนมโค หลวงปู่โต พรหมรังสี หลวงปู่ทวด วัดช้างไห้ หลวงปู่สุข วัดมะขามเฒ่า หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต หลวงปู่ฝั้น อาจาโร หลวงปู่พระราชพรหมญาณเถระ หลวงปู่คำพันธ์ โฆสปัญโญ และพระอริยสงฆ์ทุกพระองค์ ตลอดจนพระบารมีแห่งท้าวมหาราชจตุโลกบาล ทั้ง ๔ ท้าวรตธัฐตะ ท้าววิรุณหค ท้าววิรูปักเข ท้าวเวสสุวรรณ ท้าวสักกะเทวราช พระอินทราทิราช องค์พระศิวะเทพ พระนารายณ์ พระพิฆเณศ แม่พระเพลิง แม่พระพาย แม่พระโพสพ แม่พระธรณี แม่พระคงคา หลวงปู่มหาฤาษีทั้งหลายทั่วป่าหิมพานต์ หลวงปู่ฤาษีรัตดาบส หลวงปู่ฤาษีโสตัสตะภิญญา หลวงปู่ฤาษีอุ่มคำ หลวงปู่ฤาษีปุญตะกะโร พญานาคทั้งหลายท่านสาธุเพซรราช ชัยยะนาคราช จิตตะนาคราช โสมะนาคราช และบริวาร พญาครุฑพันตา พญาครุฑอนัตตาและบริวารทั้งหลาย เทวาอารักษ์ทั่วสากลพิภพทั้งแสนโกฐิจักรวาล โปรดดลบันดาลให้อานิสงส์ผลบุญที่เกิดจากการพิมพ์หนังสือธรรมะ มหายันต์หลวงปู่คำพันธ์ โฆสปัญโญ ของข้าพเจ้าในครั้งนี้ จงเป็นมหาบุญมหากุศลอันยิ่งใหญ่หาปริขอบเขตจำกัดสิ้นสุดไม่ได้ อธิษฐานให้มหาบุญกุศลนี้ จงบังเกิดมีแก่บิดา มารดา เจ้ากรรมนายเวรทุกดวงวิญญาณ ทุกตัวตน ทุกภพทุกชาติที่ผ่านมาตั้งแต่ชาติที่หนึ่ง จนถึงปัจจุบัน ทั้งตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ จงได้รับมหาบุญมหากุศลนี้ทั่วถึงกัน และอโหสิกรรมให้ข้าพเจ้าตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไปตราบเข้าสู่พระนิพพาน

ขออธิษฐานจิตโปรดดลบันดาลให้บุญนี้ กลายเป็น อาหารทิพย์ อาภรณ์ทิพย์ วิมานทิพย์ ตลอดจนมีจิตเป็นทิพย์ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป และเมื่ออนุโมทนาบุญแล้วให้ทุกท่านทั้งเจ้ากรรมนายเวร ญาติพี่น้องของข้าพเจ้าที่ตกทุกข์ได้ยากจงกลายร่างเป็นเทวดา มีรัศมีกายสว่างแจ่มใส เลื่อนภพภูมิสูงยิ่งขึ้นไป จนกว่าจะเข้าถึงพระนิพพาน

มหาบุญมหากุศลนี้ ขอจงบันดาลให้ทุกท่านที่ได้ร่วมบุญนี้ แม้เพียงแต่การอนุโมทนา และพิมพ์หนังสือธรรมะเล่มนี้เผยแผ่ต่อ ๆ ไป จงได้รับความสุขกายสุขใจ สมหวังในสิ่งที่ปรารถนาทุกประการ ขอให้โรคร้าย ภัยพาลทั้งหลาย จงมลายหายไปโดยพลัน ขอให้บิดามารดา ลูกหลาน ญาติมิตรทุกคน ตลอดจนธุรกิจการงาน การศึกษาเล่าเรียน จงเจริญรุ่งเรืองด้วยจตุรพิตรพรชัยทุกประการ และถึงพระนิพพานในชาติปัจจุบันนี้ด้วยเถิด สาธุ สาธุ สาธุ อนุโมทามิ

ฤาษีมณีธรธรณินทร์
อุ มะ อะ มิ ปัญโญโหติ

วันพฤหัสบดีที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2552

หนังสือ มหายันต์หลวงปู่คำพันธ์ โฆสปัญโญ

วรวิทย์ ตงศิริ
(ฤาษีเอก  อมตะ)
เรียบเรียงเพื่อบูชาพระคุณ

หลวงปู่คำพันธ์  โฆสปัญโญ
ที่เมตตาสอนกรรมฐานและการเจริญธาตุ

ขอมอบบุญกุศลนี้ให้ผู้หญิงคนหนึ่งที่รักยิ่งกว่าสิ่งใด

คุณแม่ราศรี  ตงศิริ (พิละมาตร)
ปัจจุบันปี ๒๕๕๕ อายุ ๘๘ ปี

ติดตามอ่านประวัติได้ในบล็อค 
คุณแม่ราศรี คนสี่แผ่นดิน

สงวนลิขสิทธิ์ในการพิมพ์จำหน่าย...
หากจัดพิมพ์เพื่อการสร้างกุศลผลบุญสร้างสาธารณะประโยชน์เพื่อความเจริญของประเทศชาติ พระพุทธศาสนา
ไม่ต้องขออนุญาต แจ้งให้ทราบแล้วจัดพิมพ์ได้เลย