วันพฤหัสบดีที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ที่มาของยันต์มหาปรารถนา

ที่มาของยันต์มหาปรารถนา


              เมื่อวันที่ ๑๕ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๔๑ ได้มีโอกาสไปกราบหลวงปู่ที่วัดธาตุมหาชัย ขณะนั้น ถ้าจำไม่ผิดทางวัดกำลังรื้อกุฎิไม้ที่หลวงปู่พักเพื่อสร้างใหม่ เนื่องจากปลวกกัดกินจนใกล้จะพัง หลวงปู่จึงได้ย้ายที่พักไปที่อาคารที่พักพระเถระผู้ใหญ่ (อยู่ด้านหลังอาคารพิพิธภัณฑ์ที่กำลังสร้าง)


              วันนั้นมีพระบวชใหม่พรรษาน้อยรูปหนึ่งได้มาบอกขอร้องให้พาไปกราบนมัสการหลวงปู่ด้วยเพราะท่าน มีศรัทธาต่อหลวงปู่อย่างมาก จำได้ว่าวันนั้นน่าจะเป็นเวลาบ่าย 2 โมง ได้ไปขออนุญาตกราบท่าน เป็นเวลาเหมาะที่สุดเพราะหลวงปู่ไม่มีญาติโยมมาพบเลย เณรที่คอยรับใช้หลวงปู่จึงบอกว่าหลวงปู่ให้เข้าไปพบที่ในกุฏิ และขณะนั้นมีนายช่างซ่อมเครื่องบินของกองทัพอากาศพาภรรยามากราบหลวงปู่ครั้งแรกเช่นกัน จึงได้เข้าไปกราบท่านเป็นคณะเดียวกัน

             หลวงพี่บวชใหม่ท่านนั้นได้กราบสนทนากับหลวงปู่เรื่องการปฎิบัติธรรมเจริญกรรมฐาน ท่านได้เมตตาอธิบายให้ฟังอย่างไม่เบื่อหน่ายตลอดจนตอบข้อซักถามหลายแง่มุม ก่อนกลับหลวงพี่ได้ถอดลูกประคำหยกและพระเครื่องขอความเมตตาหลวงปู่ช่วยอธิษฐานจิตให้ด้วย ท่านได้กำลูกประคำและพระเครื่องรวมกับที่ผมได้ถอดจากคอให้ท่านถือไว้ด้วย ท่านเมตตาอธิษฐานจิตอยู่ซักครู่หนึ่งพร้อมกับเป่ารดลงไปแล้วคืนมาให้ และบอกว่า “การให้ปราณคือการให้ชีวิต บางท่านก็ให้ด้วยการรดน้ำมนต์ บางท่านก็ให้ด้วยการเคาะ บางท่านเพียงจ้องมองก็เสร็จแล้ว ”


          ท่านได้สอบถามนายทหารอากาศท่านนั้นว่ามาจากไหน พอทราบว่าเพิ่งมาจากกรุงเทพครั้งแรก ท่านก็ยิ้มอย่างเมตตา ไม่รู้ผมคิดอย่างไรในขณะนั้น ได้กราบขอเมตตาให้ท่านเขียนอะไรให้ลูกหลานด้วย ใจจริงอยากให้ท่านเขียนคำอวยพรให้ แต่ท่านกลับนำสมุดบันทึกของผมไปกางแล้วนำไม้บรรทัดวางทาบลงไปแล้วเขียนยันต์ลงกระดาษ เสร็จแล้วยื่นส่งให้นายทหารท่านนั้น 1 แผ่น แล้วเขียนอีกแผ่นหนึ่งให้กระผม แต่ท่านไม่ได้ลงวันที่ จึงเรียนท่านว่าหลวงปู่ยังไม่ลงวันที่เลย ท่านบอกว่าให้เขียนวันที่เอาเอง เลยได้โอกาสสอบถามที่มาของยันต์นี้ ท่านบอกว่ายันต์นี้มีชื่อว่า “ยันต์สมปรารถนา” ซึ่งลูกศิษย์ส่วนมากมักจะเล่าขานกันว่าเป็น ยันต์มหาปรารถนา ซึ่งก็คงไม่ผิดจากความเป็นจริง


รูปที่ ๓ ยันต์มหาปรารถนา
ลายมือหลวงปู่คำพันธ์ โฆสปัญโญ
หลวงปู่เมตตาเขียนให้ตั้งแต่วันที่ ๑๕ มิถุนายน ๒๕๔๑


          ด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ได้เรียนถามท่านว่ามีประโยชน์อย่างไร ท่านตอบว่ามีประโยชน์มากน้อยคนนักจะได้ ให้เก็บไว้ให้ดีต่อไปจะมีประโยชน์มาก ดีกว่าคำอวยพรอีก

         หลังจากกราบลาท่านแล้ววันต่อมาผู้เขียนได้นำมาเข้าเครื่องถ่ายเอกสารจำนวน ๒๐๐ แผ่น นำกลับไปถวายท่าน ท่านบอกว่า ที่นำมานั้นท่านรับไว้ แต่จะไม่แจกให้ญาติโยม เพราะกลัวว่าจะมีคนนำไปทำเป็นการค้า จึงได้กราบเรียนถามที่มาของยันต์ ท่านได้เมตตาเล่าให้ฟังดังต่อไปนี้


          “หลวงปู่พรหมา อยู่ที่บ้านม่วง ห่างจากบ้านมหาชัยไปทางบ้านนกเหาะ บ้านสีทนประมาณ ๑๐ กม. ท่านนี้มีความสำคัญมาก (ชาวบ้านจะรู้กันในนาม หลวงปู่พรหมา แห่งนครจำปาศักดิ์ ) เป็นคนมาจากทางฝั่งลาว เป็นพระอภิญญา เพราะท่านเดินบิณฑบาตจากบ้านม่วงมาสกลนคร หรือ จาก บ้านม่วงไปธาตุพนม เรณูนคร แล้วกลับมาทันฉันจังหันเช้าได้อย่างน่าอัศจรรย์ใจ

          หลังจากหลวงปู่พรหมาละสังขารแล้ว ลูกหลานของท่านได้นำเครื่องอัฐบริขาร เครื่องใช้ต่าง ๆ มาถวายไว้ให้หลวงปู่คำพันธ์ โฆสปัญโญ ที่วัดธาตุมหาชัย หลวงปู่คำพันธ์ได้พิจารณารับไว้ ในจำนวนสิ่งของนั้น มีแผ่นยันต์ จารลงใบลาน ตอนที่ผู้เขียนถามหลวงปู่ท่านพยายามให้เณรหาดูแต่ไม่พบ เพราะเก็บไว้ดี อาจหลงที่เก็บ ผู้เขียนเลยไม่ได้เห็นแผ่นยันต์นั้นกับตาตัวเอง แต่ได้สอบถามหลวงพ่อทองตอนยังมีชีวิตอยู่ ท่านเป็นเณรของหลวงปู่คำพันธ์ ท่านบอกว่าเป็นใบลาน ตอนนี้เก็บรักษาไว้กับ ท่านพระครูสุนทรชยาภิวัฒน์ ( สมัย รกฺขิตธมฺโม ) เจ้าอาวาสวัดธาตุมหาชัย (๐๘๑-๙๖๕๖๘๖๗) ”


             หลังจากหลวงปู่พิจารณาแผ่นยันต์นั้นแล้ว ท่านได้บอกกับลูกหลานหลวงปู่พรหมาว่า เป็นของดีนะ ให้เก็บรักษาไว้ให้ดี หลวงปู่ท่านได้คืนผูกแผ่นยันต์ให้ลูกหลานหลวงปู่พรหมา หลังจากนั้นประมาณ 2 – 3 วัน ลูกหลานของหลวงปู่พรหมาได้กลับมาหาหลวงปู่คำพันธ์อีก แล้วได้ถวายยันต์นั้นไว้กับหลวงปู่คำพันธ์ (ผู้เขียนไม่ได้สอบถามว่าเป็นวันเวลา พ.ศ.ใด) แต่ได้ถามว่ายันต์นี้มีชื่อว่า อย่างไร ท่านตอบว่า เป็นยันต์มหาปรารถนา หรือทางไทย เราเรียกว่า ยันต์สมปรารถนา เรื่องนี้มีข้อสังเกตว่า ในภายหลังยันต์นี้อาจเรียกชื่อตาม เหรียญรุ่นมหาปรารถนา และรุ่นสมปรารถนา ที่โด่งดังก็ได้ 

             ภายหลังต่อมาผู้เขียนได้ศึกษายันต์ในใบลานของหลวงปู่จากพระครูสุนทรชยาภิวัฒน์   ทำให้ทราบว่า ตำรายันต์และคาถาอาคมที่กำกับในใบลานนั้นเป็นตำราเก่าแก่ทางลุ่มแม่น้ำโขง  (ต้องปูพื้นให้ทราบก่อนว่าอาณาจักรศรีโคตรบูรณ์นั้นครอบคลุมมาถึงดินแดนภาคตะวันออกเฉียงเหนือทั้งหมด )  ดังนั้น ตัวอักขระในยันต์จึงเป็น  อักขระตัวธรรมลาว ซึ่งเป็นของสูง และมีความศักดิ์สิทธิ์ในตัว  หลวงปู่บอกว่า เป็นตัวหนังสือพระอรหันต์  ไม่ต้องปลุกเสก   

            ส่วนยันต์มหาปรารถนา หรือ ยันต์สมปรารถนา ชื่อเดิมในภาษาลาวว่า  ยันต์ไขคำปาก   หมายถึงพูดสิ่งใดแล้วได้สิ่งนั้นประหนึ่งคำพูดนั้นเป็นวาจาสิทธิ์  สมดั่งใจปรารถนา  ลูกศิษย์ของหลวงปู่ในนครพนมจึงตั้งชื่อว่า  ยันต์สมปรารถนา หรือ ยันต์มหาปรารถนา 






ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น