วันพฤหัสบดีที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2555

หลวงปู่คำพันธ์เจริญธาตุนั่งปรกอธิษฐานจิต

หลวงปู่ใช้วิชาการเจริญธาตุในการนั่งปรกอธิษฐานจิตและจารอักขระด้วยตัวธรรมลาว



             เนื่องจากหนังสือผูกใบลานนี้เป็นหนังสือที่หลวงปู่พรหมา แห่งนครจำปาศักดิ์ เป็นพระอภิญญาจากประเทศลาว ดังนั้น ภาษาที่ใช้จารึกลงใบลาน จึงเป็น ตัวธรรมลาวอย่างแน่นอน คงไม่ใช่ภาษาอื่น ๆ มาปะปนอย่างเด็ดขาด และเรื่องนี้ได้ตรวจสอบตัวอักขระแล้วว่าเป็นภาษาลาวจริง และมีเหตุผลอื่นประกอบดังนี้

               ๑. เฉพาะองค์หลวงปู่คำพันธ์ โฆสปัญโญ ท่านเป็นหลานของผ้าขาวครุฑ ตั้งแต่เป็นเณรก็ได้ไปเรียนกรรมฐานที่บ้านท่าลี่ อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย และผู้เขียนได้เรียนถามหลวงปู่ว่าผ้าขาวครุฑนี้ เป็นผู้ที่มีลูกศิษย์เป็นทั้งพระและฆราวาส มาเรียนกรรมฐานวิชาอยู่ด้วยทั้งจากฝั่งลาวและไทย หลวงปู่จึงมีความสามารถในการอ่านอักขระตัวอักษรลาว ตัวธรรมลาว สามารถเข้าใจความหมายอันศักสิทธิ์ของอักขระแต่ละตัว       
              หลวงปู่จึงสามารถถอดยันต์แต่ละชนิดออกมาได้อย่างพลิกแพลงพิสดาร ข้อนี้ได้รับคำยืนยันจากคุณชวลิต ลิขิตวัน ลูกศิษย์ก้นกุฏิรุ่นแรกที่เห็นหลวงปู่กำลังทำพิธีจารแผ่นทองคำในกล่องกำมะหยี่สีน้ำเงินจำนวน 3 กล่อง หนักกล่องละ ๕ บาท กล่องนั้นประทับตราครุฑ แผ่นทองคำนั้นจะหลอมเพื่อสร้างรูปหล่อลอยองค์สมเด็จพระศรีสุริโยทัย
              ระหว่างที่ทำพิธีจารแผ่นทองคำนี้ มีหลวงปู่ เณรรับใช้ ๑ รูป และคุณชวลิต เท่านั้น หลวงปู่ท่านจะเปิดใบลานเลือกอักขระออกมาทีละตัว พลิกใบลานเลือกจากยันต์ชนิดต่าง ๆ อย่างสงบเงียบ มีมหาสติตั้งมั่นอย่างมากพร้อมกับจารอักขระไปทีละตัว และเคยบอกคุณชวลิตว่า การจารตะกรุด ม้วนตะกรุด จะมีคาถาอธิษฐานจิตแผ่พลังลมปราณลงในตะกรุดกำกับทุกดอก ขณะม้วนก็จะมีคาถากำกับทำให้แผ่นโลหะร้อนและอ่อนม้วนได้ จึงรู้สึกเหนื่อยมากกว่าการนั่งปรกเสียอีก จึงไม่แปลกใจเลยที่ทำไมตะกรุดของหลวงปู่จึงมีฤทธานุภาพมาก ใครก็ถามหาอยากได้ไว้บูชาครอบครอง

             ๒. สำหรับการนั่งปรกอธิษฐานจิต ผู้เขียนไม่เคยได้ยินว่าหลวงปู่ใช้พระคาถาบทอื่นใดมีแต่ท่านอธิบายให้ฟังเรื่อง การเจริญธาตุน้ำ ดิน ไฟ ลม (อาโปธาตุ ปฐวีธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุ) และผู้เขียนได้ขอเรียนเรื่องการเจริญธาตุกับท่านไว้ ซึ่งท่านเมตตาสอนให้และอธิบายความศักดิ์สิทธิ์ไว้อย่างมากมาย ประกอบกับผู้เขียนได้เห็นตำราการเจริญธาตุของคูบาอาจารย์หลายท่าน ดังนี้

                   ๒.๑ ตำราการเจริญธาตุของฤาษีคำก้อน บ้านหนองบ่อ อำเภอนาแก จังหวัดนครพนม ซึ่งเรียนวิชากับหลวงปู่สอนตาทิพย์ ภูค้อ บ้านมะนาว อำเภอดงหลวง จังหวัดมุกดาหาร (หลวงปู่คำพันธ์เคยพบหลวงปู่สอนที่บ้านหนองหอยใหญ่ หลวงปู่สอนท่านมรณะภาพ พ.ศ.๒๔๙๓ มีเจดีย์บรรจุอัฎฐิที่ถ้ำภูค้อด้วย)

                  ๒.๒ ตำราการเจริญธาตุของปู่ฤาษีโสฬส ก่อนเข้าอำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น (ไปจากกาฬสินธ์) ปู่ฤาษีท่านผู้นี้เคยหนีไปอยู่เวียงจันทร์สมัยบ้านเมืองมีปัญหา ผกค.ท่านได้เคยมาอยู่เขตอำเภอนาแก ก่อนจะเดินทางไปอยู่ประเทศลาว โดยท่านได้บวชเป็นฤาษีและได้พบตำราการเจริญธาตุมาจากหอไตรหรือหอพระเวทย์เป็นภาษาลาว ช่วงก่อนปี พ.ศ.๒๕๑๘ ท่านได้ให้คนลาวอ่านภาษาลาว ตัวธรรมลาว แล้วท่านเขียนมาเป็นภาษาไทย ผู้เขียนได้ถ่ายเอกสารเก็บไว้ ๑ ชุด ตำรานั้นเหมือนกับที่หลวงปู่คำพันธ์ท่านได้สอนให้ผู้เขียนและเหมือนกับฤาษีคำก้อนทุกประการ

                ๒.๓ ตำราการเจริญธาตุของหลวงปู่สุภา จังหวัดภูเก็ต ท่านเป็นลูกศิษย์ของหลวงปู่สีทัต ผู้สร้างพระธาตุท่าอุเทน หลวงปู่สีทัตเป็นลูกศิษย์ของสำเร็จลุน ดังนั้นตำราการเจริญธาตุจึงเป็นเหมือนกันทุกประการเพราะเป็นลูกศิษย์เดียวกัน มีเรื่องเล่าว่าหลวงปู่สีทัตกับผ้าขาวครุฑเป็นเพื่อนกัน จึงค่อนข้างจะมั่นใจได้ว่าหลวงปู่คำพันธ์ ท่านต้องเคยเข้าไปกราบพบสำเร็จลุนอย่างแน่นอน วิชาที่ท่านเรียนจึงเป็นการเจริญธาตุ กระผมได้พบและถ่ายเอกสารตำราของหลวงปู่สุภาไว้เทียบเคียงกันแล้วเป็นการเจริญธาตุไม่ใช่วิชาอื่น

              ๒.๔ ผู้เขียนได้ศึกษาวิธีการเจริญธาตุ การนั่งปรก การอธิษฐานจิตให้วัตถุมงคลเกิดความศักดิ์สิทธิ์จากหลวงปู่ ที่วัดป่าอรัญคาม ในกุฎิมังคละคีรี เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๔๓ ได้บันทึกเสียงหลวงปู่ไว้เป็นหลักฐาน เมื่อเปิดทบทวนเสียงหลวงปู่ก็พูดเรื่องการเจริญธาตุ หนุนธาตุ หมุนธาตุ กลับธาตุเช่นกัน บอกวิธีการใช้ การเพ่งให้เกิดพลังในวัตถุมงคล ท่านไม่ได้พูดเรื่องอื่นใช้วิชาอย่างอื่นหรือคาถาบทอื่นใดเลย

               จึงสรุปกล่าวได้ว่า
หลวงปู่คำพัน์ โฆสปัญโญ
ท่านสำเร็จวิชาการเจริญธาตุอย่างแน่นอน

 ส่วนเรื่องปาฎิหาริย์ของผู้ที่สำเร็จการเจริญธาตุนั้นมีอย่างมากมายมหาศาล
ท่านได้เมตตาเล่าให้ฟังหลายครั้ง แต่ผู้เขียนไม่ขอนำมาลงไว้ในที่นี้
เพราะหลวงปู่ท่านบอกว่าเป็นเรื่องที่ท่านรู้เฉพาะตัวท่าน
ไม่อยากให้เปิดเผยจะเป็นการอวดอ้างไป
แต่ผู้เขียนขอบอกว่า
 มีมากกว่าที่เป็นเรื่องเล่าลือกันในหมู่ลูกศิษย์มากมายนัก


ยันต์มหาปรารถนาลายมือหลวงปู่เขียนให้คุณชวลิต ลิขิตวัน

ร้านสยามมอเตอร์ไซด์ นครพนม

             คุณชวลิตเปิดเผยให้ผู้เขียนทราบว่า ได้ปรนนิบัติรับใช้หลวงปู่ตั้งแต่ท่านยังไม่ค่อยมีใครรู้จัก เพราะท่านปลัดพิศาล มูลศาสสาทร (สมัยนั้นเป็นปลัดจังหวัดนครพนม) ได้พากันไปกราบหลวงปู่ ยันต์มหาปรารถนานั้นหลวงปู่เขียนให้คุณชวลิตที่วัดป่าจำนวน ๙ แผ่น จารลงในแผ่นเงิน เมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๕๓๒ - ๒๕๓๓ ส่วนยันต์มหานิยมจารให้ที่วัดมหาชัยในกุฏิไม้หลังเก่า เมื่อ พ.ศ.๒๕๑๖







รูปที่ ๕ ยันต์มหาปรารถนา (ซ้ายมือ) หลวงปู่เขียนให้คุณชวลิต ลิขิตวัน
เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๒-๒๕๓๓ ยันต์มหานิยมจารให้ปี พ.ศ.๒๕๑๖








ความหมายของอักขระยันต์

ความหมายของอักขระ


                ผู้เขียนได้เรียนถามหลวงปู่ว่า ยันต์นี้อ่านว่าอย่างไร ท่านได้พูดเป็นภาษาบาลี แต่ผู้เขียนจำไม่ได้   ผู้เขียนขอความกรุณาให้ท่านแปลความหมายที่มาของอักขระ ท่านได้แปลอยู่ตัวหนึ่งคือ นะ แผลงสระ จาก อะ เป็น อิ จาก นะ เป็น นิ หมายถึง พระนิพพาน อันเป็นความปรารถนาสูงสุดของผู้บำเพ็ญธรรม พระนิพพานนั้น เป็นความว่างจากกิเลสทั้งปวง ซึ่งจะบรรจุความปรารถนาที่ดีงามอื่น ๆ ไว้ด้วยและมักจะสมความปรารถนาที่ต้องการเสมอ

ยันต์ต้นฉบับใบลาน

          เมื่อวันเสาร์ ที่ ๑๙ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๐ ผู้เขียนและท่าน ผอ.พิเชฎฐ์ หลั่งทรัพย์ ได้ไปกราบเมตตาขอดูยันต์ต้นฉบับใบลานนั้นกับท่านพระครูสุนทรชยาภิวัฒน์ ( สมัย รกฺขิตธมฺโม) และกราบเรียนถามที่มาของยันต์ ท่านได้กรุณาเปิดจากตู้มาให้ดูมีลักษณะเป็นใบลานสีเหลืองซีดผูกด้วยด้ายสีขาว หน้าปกใบลานแผ่นแรก เขียนด้วยลายมือหลวงปู่คำพันธ์ ว่า

                       “หนังสือเล่มนี้เป็นของส่วนตัวยาคูคำพันธ์ น.ธ.เอก

   เมื่อวันที่ ๑๕ กันยายน พ.ศ.๒๔๙๐ ณ บ้านม่วง ต.ปลาปาก นครพนม”

            ท่านพระครูสุนทรชยาภิวัฒน์ ได้เล่าว่ายันต์ในใบลานนั้นมาจากหลวงปู่พรหมา แห่งนครจำปาศักดิ์ ประเทศลาวมีอยู่ ๒ ผูก ผูกที่หนึ่งหลวงพ่อหวัง บ้านทันสมัยได้ไปศึกษาและได้เผาในกองฟอนพร้อมกับศพหลวงพ่อหวังแล้ว (ท่านพระครูสุนทรชยาภิวัฒน์ ตอนนั้นเป็นเณรอยากได้ใบลานผูกของหลวงพ่อหวังจะอธิษฐานขอไว้ แต่ตอนเผาศพหลวงพ่อหวังไฟร้อนแดงเป็นถ่านแต่ศพไม่ไหม้เลย จึงคิดว่าหลวงพ่อหวังคงหวงตำรา จึงโยนใบลานผูกนั้นเข้ากองไฟ และศพหลวงพ่อหวังก็ไหม้ทันที ใช้เวลาประมาณ ๑๐ นาทีเท่านั้น ซึ่งเป็นที่น่าเสียดายตำรายันต์นั้นอย่างมาก)

           เฉพาะส่วนของหลวงปู่คำพันธ์ ท่านพระครูสุนทรชยาภิวัฒน์ ได้รับการสั่งเสียมอบหมายงานให้รักษาการเจ้าอาวาสวัดมหาชัย พร้อมกับกำกับให้ดูแลทรัพย์สินสิ่งของต่าง ๆ ก่อนหลวงปู่จะละสังขารประมาณ 3 เดือน หนึ่งในนั้นเป็นหนังสือผูกใบลานห่อด้วยผ้าเช็ดหน้าลายอยู่ในตู้ มีใบลาน ๒๘ ใบ จำนวน ๕๓ หน้า รายละเอียด ดังนี้

หน้าที่ ๑ – ๒ เป็นคำขึ้นต้นอาจจะเป็นคำนำ หรือวิธีการยกครู (เป็นตัวธรรมลาว)

หน้าที่ ๓ – ๑๒ เป็นกลุ่มยันต์มหาปรารถในใบลาน ๙ แผ่น ๆ ละ ๑๒ ดวง (ด้านหน้า ๖ ดวง ด้านหลัง ๖ ดวง ) รวมกันเป็น ๑๐๘ ดวง

หน้าที่ ๑๓ – ๑๘ มี ๒ หน้า ๆ ๗ ดวง

หน้าที่ ๑๙ มี ๕ ดวง

หน้าที่ ๒๐ มี ๕ ดวง

หน้าที่ ๒๑ เป็นยันต์สี่เหลี่ยม ๓ ยันต์ และเป็นดวง อีก ๑ ดวง

หน้าที่ ๒๒ มียันต์เก้ายอด ๒ ยันต์ ยันต์เหลี่ยม ๒ ยันต์

หน้าที่ ๓๐ – ๕๒ เป็นอักขระตัวธรรมลาว ( อาจเป็นคาถาต่าง ๆ )

         เฉพาะส่วนของยันต์มหาปรารถนาโครงสร้างหรือกระดูกยันต์เหมือนกันทั้งหมด แต่มีอักขระที่ซ้ำกันทุกยันต์อยู่ ๓ อักขระ คือคำว่า นะ วะ ภา หลวงปู่ท่านได้ถอดอักขระจากยันต์ทั้ง ๑๐๘ ดวงออกมา ๒ ยันต์ คือยันต์มหาปรารถนา และยันต์มหาโภคทรัพย์ ส่วนยันต์และคาถาอื่น ๆ ก็มีใช้อยู่บ้างแต่ไม่มาก


รูปที่ ๔ ยันต์ต้นฉบับใบลาน ๑๐๘ ดวง

ท่านพระครูสุนทรชยาภิวัฒน์ กรุณาให้ถ่ายรูปไว้

            ในใบลานนั้นไม่ได้มียันต์นะวะภาเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่มีอย่างอื่นอีกมากมายหลายอย่าง เท่าที่ผู้เขียนพอจะนำเสนอได้มีดังนี้ (ได้นำต้นฉบับจากใบลานและยันต์ที่ปรับภาพให้ชัดเจนมาเปรียบเทียบกันไว้ด้วยแล้ว)






ที่มาของยันต์มหาปรารถนา

ที่มาของยันต์มหาปรารถนา


              เมื่อวันที่ ๑๕ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๔๑ ได้มีโอกาสไปกราบหลวงปู่ที่วัดธาตุมหาชัย ขณะนั้น ถ้าจำไม่ผิดทางวัดกำลังรื้อกุฎิไม้ที่หลวงปู่พักเพื่อสร้างใหม่ เนื่องจากปลวกกัดกินจนใกล้จะพัง หลวงปู่จึงได้ย้ายที่พักไปที่อาคารที่พักพระเถระผู้ใหญ่ (อยู่ด้านหลังอาคารพิพิธภัณฑ์ที่กำลังสร้าง)


              วันนั้นมีพระบวชใหม่พรรษาน้อยรูปหนึ่งได้มาบอกขอร้องให้พาไปกราบนมัสการหลวงปู่ด้วยเพราะท่าน มีศรัทธาต่อหลวงปู่อย่างมาก จำได้ว่าวันนั้นน่าจะเป็นเวลาบ่าย 2 โมง ได้ไปขออนุญาตกราบท่าน เป็นเวลาเหมาะที่สุดเพราะหลวงปู่ไม่มีญาติโยมมาพบเลย เณรที่คอยรับใช้หลวงปู่จึงบอกว่าหลวงปู่ให้เข้าไปพบที่ในกุฏิ และขณะนั้นมีนายช่างซ่อมเครื่องบินของกองทัพอากาศพาภรรยามากราบหลวงปู่ครั้งแรกเช่นกัน จึงได้เข้าไปกราบท่านเป็นคณะเดียวกัน

             หลวงพี่บวชใหม่ท่านนั้นได้กราบสนทนากับหลวงปู่เรื่องการปฎิบัติธรรมเจริญกรรมฐาน ท่านได้เมตตาอธิบายให้ฟังอย่างไม่เบื่อหน่ายตลอดจนตอบข้อซักถามหลายแง่มุม ก่อนกลับหลวงพี่ได้ถอดลูกประคำหยกและพระเครื่องขอความเมตตาหลวงปู่ช่วยอธิษฐานจิตให้ด้วย ท่านได้กำลูกประคำและพระเครื่องรวมกับที่ผมได้ถอดจากคอให้ท่านถือไว้ด้วย ท่านเมตตาอธิษฐานจิตอยู่ซักครู่หนึ่งพร้อมกับเป่ารดลงไปแล้วคืนมาให้ และบอกว่า “การให้ปราณคือการให้ชีวิต บางท่านก็ให้ด้วยการรดน้ำมนต์ บางท่านก็ให้ด้วยการเคาะ บางท่านเพียงจ้องมองก็เสร็จแล้ว ”


          ท่านได้สอบถามนายทหารอากาศท่านนั้นว่ามาจากไหน พอทราบว่าเพิ่งมาจากกรุงเทพครั้งแรก ท่านก็ยิ้มอย่างเมตตา ไม่รู้ผมคิดอย่างไรในขณะนั้น ได้กราบขอเมตตาให้ท่านเขียนอะไรให้ลูกหลานด้วย ใจจริงอยากให้ท่านเขียนคำอวยพรให้ แต่ท่านกลับนำสมุดบันทึกของผมไปกางแล้วนำไม้บรรทัดวางทาบลงไปแล้วเขียนยันต์ลงกระดาษ เสร็จแล้วยื่นส่งให้นายทหารท่านนั้น 1 แผ่น แล้วเขียนอีกแผ่นหนึ่งให้กระผม แต่ท่านไม่ได้ลงวันที่ จึงเรียนท่านว่าหลวงปู่ยังไม่ลงวันที่เลย ท่านบอกว่าให้เขียนวันที่เอาเอง เลยได้โอกาสสอบถามที่มาของยันต์นี้ ท่านบอกว่ายันต์นี้มีชื่อว่า “ยันต์สมปรารถนา” ซึ่งลูกศิษย์ส่วนมากมักจะเล่าขานกันว่าเป็น ยันต์มหาปรารถนา ซึ่งก็คงไม่ผิดจากความเป็นจริง


รูปที่ ๓ ยันต์มหาปรารถนา
ลายมือหลวงปู่คำพันธ์ โฆสปัญโญ
หลวงปู่เมตตาเขียนให้ตั้งแต่วันที่ ๑๕ มิถุนายน ๒๕๔๑


          ด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ได้เรียนถามท่านว่ามีประโยชน์อย่างไร ท่านตอบว่ามีประโยชน์มากน้อยคนนักจะได้ ให้เก็บไว้ให้ดีต่อไปจะมีประโยชน์มาก ดีกว่าคำอวยพรอีก

         หลังจากกราบลาท่านแล้ววันต่อมาผู้เขียนได้นำมาเข้าเครื่องถ่ายเอกสารจำนวน ๒๐๐ แผ่น นำกลับไปถวายท่าน ท่านบอกว่า ที่นำมานั้นท่านรับไว้ แต่จะไม่แจกให้ญาติโยม เพราะกลัวว่าจะมีคนนำไปทำเป็นการค้า จึงได้กราบเรียนถามที่มาของยันต์ ท่านได้เมตตาเล่าให้ฟังดังต่อไปนี้


          “หลวงปู่พรหมา อยู่ที่บ้านม่วง ห่างจากบ้านมหาชัยไปทางบ้านนกเหาะ บ้านสีทนประมาณ ๑๐ กม. ท่านนี้มีความสำคัญมาก (ชาวบ้านจะรู้กันในนาม หลวงปู่พรหมา แห่งนครจำปาศักดิ์ ) เป็นคนมาจากทางฝั่งลาว เป็นพระอภิญญา เพราะท่านเดินบิณฑบาตจากบ้านม่วงมาสกลนคร หรือ จาก บ้านม่วงไปธาตุพนม เรณูนคร แล้วกลับมาทันฉันจังหันเช้าได้อย่างน่าอัศจรรย์ใจ

          หลังจากหลวงปู่พรหมาละสังขารแล้ว ลูกหลานของท่านได้นำเครื่องอัฐบริขาร เครื่องใช้ต่าง ๆ มาถวายไว้ให้หลวงปู่คำพันธ์ โฆสปัญโญ ที่วัดธาตุมหาชัย หลวงปู่คำพันธ์ได้พิจารณารับไว้ ในจำนวนสิ่งของนั้น มีแผ่นยันต์ จารลงใบลาน ตอนที่ผู้เขียนถามหลวงปู่ท่านพยายามให้เณรหาดูแต่ไม่พบ เพราะเก็บไว้ดี อาจหลงที่เก็บ ผู้เขียนเลยไม่ได้เห็นแผ่นยันต์นั้นกับตาตัวเอง แต่ได้สอบถามหลวงพ่อทองตอนยังมีชีวิตอยู่ ท่านเป็นเณรของหลวงปู่คำพันธ์ ท่านบอกว่าเป็นใบลาน ตอนนี้เก็บรักษาไว้กับ ท่านพระครูสุนทรชยาภิวัฒน์ ( สมัย รกฺขิตธมฺโม ) เจ้าอาวาสวัดธาตุมหาชัย (๐๘๑-๙๖๕๖๘๖๗) ”


             หลังจากหลวงปู่พิจารณาแผ่นยันต์นั้นแล้ว ท่านได้บอกกับลูกหลานหลวงปู่พรหมาว่า เป็นของดีนะ ให้เก็บรักษาไว้ให้ดี หลวงปู่ท่านได้คืนผูกแผ่นยันต์ให้ลูกหลานหลวงปู่พรหมา หลังจากนั้นประมาณ 2 – 3 วัน ลูกหลานของหลวงปู่พรหมาได้กลับมาหาหลวงปู่คำพันธ์อีก แล้วได้ถวายยันต์นั้นไว้กับหลวงปู่คำพันธ์ (ผู้เขียนไม่ได้สอบถามว่าเป็นวันเวลา พ.ศ.ใด) แต่ได้ถามว่ายันต์นี้มีชื่อว่า อย่างไร ท่านตอบว่า เป็นยันต์มหาปรารถนา หรือทางไทย เราเรียกว่า ยันต์สมปรารถนา เรื่องนี้มีข้อสังเกตว่า ในภายหลังยันต์นี้อาจเรียกชื่อตาม เหรียญรุ่นมหาปรารถนา และรุ่นสมปรารถนา ที่โด่งดังก็ได้ 

             ภายหลังต่อมาผู้เขียนได้ศึกษายันต์ในใบลานของหลวงปู่จากพระครูสุนทรชยาภิวัฒน์   ทำให้ทราบว่า ตำรายันต์และคาถาอาคมที่กำกับในใบลานนั้นเป็นตำราเก่าแก่ทางลุ่มแม่น้ำโขง  (ต้องปูพื้นให้ทราบก่อนว่าอาณาจักรศรีโคตรบูรณ์นั้นครอบคลุมมาถึงดินแดนภาคตะวันออกเฉียงเหนือทั้งหมด )  ดังนั้น ตัวอักขระในยันต์จึงเป็น  อักขระตัวธรรมลาว ซึ่งเป็นของสูง และมีความศักดิ์สิทธิ์ในตัว  หลวงปู่บอกว่า เป็นตัวหนังสือพระอรหันต์  ไม่ต้องปลุกเสก   

            ส่วนยันต์มหาปรารถนา หรือ ยันต์สมปรารถนา ชื่อเดิมในภาษาลาวว่า  ยันต์ไขคำปาก   หมายถึงพูดสิ่งใดแล้วได้สิ่งนั้นประหนึ่งคำพูดนั้นเป็นวาจาสิทธิ์  สมดั่งใจปรารถนา  ลูกศิษย์ของหลวงปู่ในนครพนมจึงตั้งชื่อว่า  ยันต์สมปรารถนา หรือ ยันต์มหาปรารถนา